นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ดำเนินงานส่งเสริมชุมชนคุณธรรมฯ ขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร ที่มีความโดดเด่นใน ๓ มิติ คือ ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินชีวิตวิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน นอกจากนี้ยังได้นำหลักการ “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน” ไปขับเคลื่อนและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นแหล่งปลูกฝัง บ่มเพาะ และเผยแพร่องค์ความรู้ที่มีประโยชน์ รวมทั้งให้เป็นแหล่งกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และข่าวสารเหตุการณ์บ้านเมืองที่สำคัญเร่งด่วน อาทิ การรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ และเข้าถึงโครงการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษ มีชุมชนคุณธรรมฯขับเคลื่อนด้วยพลัง บวร ทั้งสิ้น ๓๙๘ แห่ง แบ่งเป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ ๕๔ แห่ง ชุมชนคุณธรรมระดับคุณธรรม ๑๕๗ แห่ง และชุมชนคุณธรรมระดับส่งเสริมคุณธรรม ๑๘๔ แห่ง ซึ่งชุมชนคุณธรรมวัดสำโรงเกียรติ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ได้รับคัดเลือกให้เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบและชุมชนคุณธรรมนำร่องที่มีทุนทางวัฒนธรรมและศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชนคุณธรรม ฯ วัดสำโรงเกียรติ เสมอมา โดยชุมชนฯ มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย เป็นแหล่งเรียนรู้ของอ.ขุนหาญ เป็นชุมชนเผ่าเขมรที่ยังรักษาวัฒนธรรมของชนเผ่าไว้เป็นอย่างดี มีพระสงฆ์ คือ พระครูอรุณปุญโญภาส เจ้าอาวาสวัดสำโรงเกียรติ เป็นผู้นำในการพัฒนาชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
นอกจากนี้ ปัจจุบันชุมชนคุณธรรมฯ วัดสำโรงเกียรติ ยังเป็นชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบของจังหวัดศรีสะเกษที่ใช้มิติทางวัฒนธรรมนำการพัฒนาให้คนในชุมชนรู้จักดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามใน ๓ มิติ คือ ยึดมั่นในหลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชน มีความจงรักภักดี เทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ เป็นชุมชนที่สงบสุข เรียบง่าย คนในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ปัญหาสังคมลดลง ปัญหาการพนัน ทะเลาะวิวาท ยาเสพติดลดลง ผู้คนมีน้ำใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในชุมชนมีการร่วมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อช่วยเหลือด้านการเงิน มีพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนราชการในพื้นที่เป็นพลังบวรที่ร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีวัดสำโรงเกียรติเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมด้านศาสนา เศรษฐกิจ พอเพียง สืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น ในส่วนของการสร้างรายได้ให้กับชุมชนมีการพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยเข้าร่วมโครงการสืบสาน รักษา ต่อยอดศาสตร์พระราชาสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน “บวร On Tour” จัดให้มีเส้นทางท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชนเผ่าเขมร อาทิ ที่พักแบบโฮมสเตย์สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่าย สักการะหลวงพ่อพระตาตน ชมปราสาทตำหนักไทร เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม สร้างคุณภาพชีวิตให้ประชาชน สร้างคนดี สังคมดี อยู่ดี มีสุข นอกจากนี้ ภายในชุมชนยังมีการพัฒนาการผลิตสินค้าจากทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ อาทิ ตะกร้าหวาย เสื่อต้นไหล ไม้กวาดทางมะพร้าว ทอผ้า ทำน้ำสมุนไพร ไข่เค็มดินภูเขาไฟ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนด้วย