ม.มหิดล เป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน เตรียมพร้อมมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยสีเขียวโลก

จันทร์ ๒๐ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๐๙:๑๒
มหาวิทยาลัยมหิดลก้าวสู่อันดับ 1 ของประเทศไทย ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลกครั้งแรกในปี 2012 และล่าสุดจากผลสำรวจ UI Green Metric World University Ranking 2019 ที่จัดทำโดย University of Indonesia (UI) ได้ประกาศว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นอันดับที่ 75 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย 4 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2016 โดยในปี 2016 ได้อันดับที่ 70 ของโลก ปี 2017 ได้อันดับที่ 86 ของโลก ปี 2018 ได้อันดับที่ 89 ของโลก และล่าสุด ปี 2019 ได้อันดับที่ 75 ของโลก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ด้วยโลกบริโภคนิยมในยุคปัจจุบันมีการใช้ทรัพยากรมากเกินความจำเป็น จนเป็นที่น่าวิตกว่าจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนรุ่นหลัง เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่สมดุล จึงเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนของสถาบันการศึกษาที่จะต้องปลูกฝัง และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการใช้ทรัพยากร และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยประคับประคองให้โลกนี้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ทำให้เกิดการต่อยอดสร้างนวัตกรรมเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไปอีกมากมาย ด้วยบทบาทสำคัญนี้จึงเป็นที่มาของการจัดอันดับสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านการดูแลรักษาระบบนิเวศและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำแนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) หรือ มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ (Eco University) มากำหนดเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ผ่าน 3 กลยุทธ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร (Resources Efficiency) พันธกิจชุมชนสัมพันธ์ (Community Engagement) และ สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2561 ปรับเป็น Low Carbon Technology & Innovation โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนฟุตพรินท์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน จากระดับหน่วยงาน สู่ระดับองค์กร เพื่อนำมาประเมิน แล้วมาวิเคราะห์เพื่อการหาแนวทางในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชิงนิเวศ ใช้ตัวชี้วัด 6 ข้อ ประกอบด้วย สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค (Setting and Infrastructure) การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Energy and Climate Change) การจัดการขยะ (Waste Management) การใช้น้ำ (Water Management) การจัดการระบบขนส่ง (Transportation) และ การศึกษา (Education for Green) โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้กำหนดให้ส่วนงานจะต้องผ่านเป้าหมาย ร้อยละ 70 แต่ปัจจุบันสามารถทำได้จนบรรลุเป้าหมายถึงประมาณร้อยละ 80 – 90 สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก ในปีนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 25 โดยได้ริเริ่มโครงการผู้บริหารคาร์บอนต่ำ ซึ่งมีเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการประเมินกิจกรรมส่วนบุคคลของผู้บริหาร ทั้งในระดับส่วนงาน และระดับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดคิดเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 211.02 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้ทำการชดเชย 219 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยให้บุคลากรและหน่วยงานสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างให้แก่สถาบันอื่นๆ ตลอดจนขยายผลสู่ระดับประเทศได้

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนภายในประเทศ ขยายผลเชื่อมโยงกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อยกระดับสถาบันการศึกษาของประเทศให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตาม 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (17 SDGs) ซึ่งที่ประชุมร่วมสหประชาชาติมองว่าสถาบันอุดมศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในอนาคตอันใกล้นี้มหาวิทยาลัยมหิดลจะดำเนินนโยบายหลักเกี่ยวกับเรื่อง 17 SDGs ที่เป็นรูปธรรม และมีเป้าหมายที่จะพัฒนาขึ้นสู่อันดับ 1 ใน 50 มหาวิทยาลัยสีเขียวโลกต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับเลือกจาก UI GreenMetric เป็น National Host ประจำประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 มหาวิทยาลัยมหิดลได้เป็นเจ้าภาพจัดเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “Sustainable University Leader towards UI Green Metric World University Rankings” โดยร่วมกับ Universitas Indonesia และ UI Green Metric เพื่อเตรียมความพร้อมภาคีเครือข่ายภายในประเทศให้พัฒนาองค์กรสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ตามตัวชี้วัด และหลักเกณฑ์ใหม่ของ UI Green Metric ซึ่งมีกำหนดส่งข้อมูลเพื่อเข้ารับการประเมินสู่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลกภายในเดือนตุลาคม 2563 นี้

ติดตามรายละเอียดของการจัดกิจกรรมได้ทาง Facebook: MU SDGs

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ ดร.เอ้ สุดยอดผู้นำด้าน AI เชื่อมั่น รพ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร จะปฏิวัติการแพทย์ไทย ด้วย AI พร้อมความตั้งใจอันแน่วแน่
๐๙:๐๓ รมว.นฤมล ผลักดันกฎระเบียบว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR)
๐๙:๑๖ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ชวนร่วมบริจาคโลหิต 26 ธันวาคมนี้ ชั้น 7 โซน A เพิ่มโลหิต เพิ่มชีวิต
๐๙:๔๗ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง จัดเต็ม!! ลงพื้นที่เร่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างชีวิตแก่ชาวหนองคายอย่างยั่งยืน
๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย