พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา กล่าวถึงภาพรวมในการเปิดงานสัมมนาว่า “ผลกระทบต่อแรงงานมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ มาตรการควบคุมสถานการณ์ของรัฐ และการปรับตัวของภาคธุรกิจและการจ้างงานที่เกิดเป็นแนวคิด “New Normal ดังนั้นรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งทบทวนพิจารณาและวางแผนขับเคลื่อนการส่งเสริมการจ้างงาน การสร้างรายได้ที่เหมาะสม การปรับระบบประกันสังคม การคุ้มครองช่วยเหลือเยียวยาแรงงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาและเสริมทักษะให้แรงงาน”
“วิกฤต โควิด-19 ไม่เหมือนวิกฤตใดในอดีต” ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสภาพปัญหาทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในงานสัมมนา “แนวทางการขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยเพื่อก้าวผ่านยุคโควิด-19: การปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัยเพื่อความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน” งานสัมนาดังกล่าวจัดโดยความร่วมมือของศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และศูนย์วิจัยแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลและความคิดเห็นในการปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มและทุกภาคทั้งในระยะกลางและระยะยาว รวมถึงเพื่อแสวงหาแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือต่อวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ช่วงเดือน พ.ค. - ต้นเดือน มิ.ย. 2563 ได้มีการจัดการสัมมนาออนไลน์ 7 ครั้ง ในหัวข้อ “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน” โดย CU-ColLar เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนสถานการณ์ความรุนแรงของวิกฤตโควิด-19 กับภาคีเครือข่าย ตลอดจนแนวทางการปรับตัวในอนาคต ดร.มนทกานต์ ฉิมมามี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และ CU–ColLar ได้นำเสนอข้อสรุปที่ได้จากการสัมนาว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบในภาพรวมทั้งเชิงลบและเชิงบวกต่อตลาดแรงงานไทยใน 3 มิติหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้ มิติแรก คือ วิกฤตโควิด-19 ได้ “ซ้ำเติมและเปิดเผยปัญหา” มิติที่สอง คือ วิกฤติโควิด-19 ได้ “เร่งให้เกิด Digital Transformation” มิติที่สาม คือ วิกฤติโควิด-19 ได้ “สร้างงานใหม่ และโอกาสใหม่” ในด้านข้อเสนอแนะทางนโยบายมี 4 เสาหลัก และ 1 แนวทาง คือ “สนับสนุนงานเดิม เพิ่มเติมงานใหม่ คุ้มครองให้ปลอดภัย ร่วมแก้ไขและหารือ มุ่งพัฒนาฝีมือ ยกระดับไทยก้าวไกลยั่งยืน”
ด้วยความช่วยเหลือจากภาครัฐ สถานการณ์ดูเหมือนจะบรรเทาและคลี่คลายลงไปบ้าง แต่ ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาฯ ตั้งคำถามชวนคิดว่า พวกเราได้ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้วหรือยัง ผลบวกของโควิด-19 เกิดกับธุรกิจอาหาร สุขภาพ และการสื่อสาร แต่ผลลบนั้นกินวงกว้างในหลายธุรกิจ เช่น การศึกษา เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ สาธารณูปโภค และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวและขนส่ง ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร และธุรกิจการค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น
ในเรื่องนี้ คุณประพันธ์ สิมะสันติ ในฐานะผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่านโยบายที่จำเป็นในปัจจุบันคือการเยียวยาให้กับแรงงานและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในส่วนการบริการ การท่องเที่ยว และการโรงแรม ที่ได้รับผลกระทบสูง อย่างไรก็ดี ก็ควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานในภาคส่วนนี้ได้รับความรู้ด้านภาษามากขึ้น ให้บริการที่ดีขึ้น พัฒนาทักษะเพื่อให้ตรงความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น
ผศ.ดร.ปิยะชาติ กล่าวด้วยว่า ในวิกฤตยังคงมีโอกาส หัวใจสำคัญอยู่ที่ “การปรับตัว” ถ้าเราสามารถทำให้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมกับทักษะหรือลักษณะการทำงานของแรงงานก็จะช่วยเสริมผลิตภาพของแรงงานได้ ในยุคปกติใหม่นี้ เราควรคิดใหม่ ทำใหม่ เพราะอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการปรับตัว คือการรับมือกับวิกฤตด้วยวิธีคิดแบบเก่าๆ
ในเรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งต้องเสริมแรงด้วยงานวิจัย ตามที่ ศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ด้านการวิจัย จุฬาฯ ได้เสนอความเห็นเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านแรงงานโดยการส่งเสริมงานวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย ตลอดจนสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่และนักวิจัย ส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ และเน้นการเชื่อมโยงไปสู่นโยบายที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน โดยเครือข่ายนักวิจัยไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยจากจุฬาฯ เท่านั้น แต่เน้นขยายภาคีเครือข่ายนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การทำงานอาจอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าบ้านหรือออฟฟิศ และเกิดอาชีพใหม่ๆ อยู่เสมอ คุณมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทยและอนุกรรมาธิการด้านการสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา เห็นความจำเป็นของการปฏิรูประบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้าเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิได้ นอกจากนี้ รัฐบาลน่าจะมีนโยบายส่งเสริมภาคการผลิตทางการเกษตร โดยสนับสนุนงบประมาณให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนทำกิจการอาหารแปรรูปมากขึ้น เพื่อรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหลังจากสถานประกอบการปิดกิจการในช่วงโควิด-19 และควรมีนโยบายให้แรงงานภาคการเกษตรอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานด้วย
คุณสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวเสริมถึงการดูแลแรงงานภาคเกษตรกรรมในประเด็นสำคัญๆ คือ จัดให้มีระบบสวัสดิการรวมถึงผู้สูงอายุภาคการเกษตร การพิจารณาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงและเป็นธรรม การพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชุมชนโดยเปิดโอกาสให้มีตลาดหลายช่องทาง นโยบายส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจของชุมชนในภาคการเกษตร นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงกลไกการเฝ้าระวังในเรื่องวิกฤตว่าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังเรื่องภัยพิบัติ เรื่องสุขภาพ หรือการเฝ้าระวังไม่ให้อาชีพสั่นคลอน และเสนอให้เกิดกลไกเหล่านี้ ประเด็นสุดท้ายที่คุณสุภาเสริม คือ เครือข่ายทางสังคม ควรทำโครงสร้างเหล่านี้ให้เข้มแข็ง อาจจะมี sector ต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่ sector ในชุมชน แต่อาจจะข้ามข่ายผ่านทางโซเชียลมีเดีย โครงสร้างทางสังคมเหล่านี้หากมีการศึกษาและทำให้เข้มแข็งมากขึ้นก็จะช่วยรองรับวิกฤตและพัฒนาในเชิงรุกได้ด้วย
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ไม่เกิดกับแค่แรงงานวัยหนุ่มสาว แต่สะท้อนความเปราะบางของสังคมสูงวัยในอนาคตด้วย ดังที่ ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการจุฬาอารี จุฬาฯ กล่าวว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมการให้พร้อมเพื่อสูงวัยอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะคนรุ่นอายุ 40 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ เพื่อความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงชีวิต ทั้งมิติของการวางแผนที่อยู่อาศัย การออมเงิน การพัฒนาศักยภาพตนเอง รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและใจ
ศ.ดร.วิพรรณเสนอให้ภาครัฐช่วยเพิ่มพูนทักษะการทำงานและทักษะชีวิตของประชากรอายุ 40-50 ปี ที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจฐานราก และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถทำหน้าที่ในการดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่ อีกทั้งเชื่อมโยงและใช้ข้อมูลของประชากรในระดับพื้นที่มาใช้วางแผนการพัฒนาทั้งในยามปกติและยามวิกฤต โดยมุ่งเน้นที่การสร้างบ้านให้มั่นคง สร้างงานใกล้บ้าน ให้งานวิ่งสู่ชุมชน สร้างระบบชุมชนให้รองรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการย้ายถิ่น ลดความเหลื่อมล้ำ บรรเทาปัญหาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม