มูลนิธิเอสซีจี ผนึกความร่วมมือ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ มอบหน้ากากผ้าให้น้อง 100,000 ชิ้น พร้อมชวนเด็กประถมฯ ประกวดวาดภาพระบายสี “เด็กไทยสู้ภัยโควิด”

อังคาร ๒๑ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๐๙:๔๗
มูลนิธิเอสซีจี องค์กรสาธารณกุศลที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนา 'คน’ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาชาติในอนาคต ร่วมกับ มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ มอบหน้ากากผ้าจำนวน 100,000 ชิ้น มูลค่า 3,500,000 บาท เพื่อมอบให้กับนักเรียนในถิ่นทุรกันดารและนักเรียนที่ขาดแคลนหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันตนเองจากการระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการ “เด็กไทยสู้ภัยโควิด” (Thai Kids Fight COVID) พร้อมเปิดตัวโครงการประกวดวาดภาพระบายสี “เด็กไทยสู้ภัยโควิด” (Thai Kids Fight COVID) ระดับประถมศึกษา เพื่อให้เด็กไทยได้ตระหนักถึงการดูแลและป้องกันตนเองจากการระบาดของโรค COVID-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องอยู่รวมกันที่โรงเรียน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวว่า “โครงการเด็กไทยสู้ภัยโควิด (Thai Kids Fight COVID) เป็นโครงการที่มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และคณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) รุ่นที่ 1-8 จัดขึ้น ด้วยความห่วงใยเด็กๆ ที่ขาดแคลน โดยเฉพาะนักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จึงได้ริเริ่มโครงการฯ จัดหาหน้ากากผ้าที่มีคุณภาพให้กับเด็กนักเรียนระดับประถมต้น ป.1 – ป.4 ในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จำนวน 21 แห่ง และโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จำนวน 11 แห่ง ร่วมเป็นเครือข่าย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีโอกาสดูแลและให้ความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการใส่หน้ากาก การล้างมือ อย่างถูกวิธี และการรักษาสุขอนามัยที่ดี แก่เด็กนักเรียนและครูอาจารย์ด้วย

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “มูลนิธิเอสซีจี มุ่งมั่นเสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชนรวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เล็งเห็นถึงความสำคัญของหน้ากากผ้าที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคของเด็กๆ ในช่วงเปิดเทอม จึงได้มอบหน้ากากผ้า จำนวน 100,000 ชิ้น มูลค่า 3,500,000 บาท ให้กับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เพื่อส่งมอบต่อให้กับเด็กๆ ในท้องถิ่นทุรกันดาร ซึ่งหน้ากากดังกล่าว จะมีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า ใช้ผ้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย รวมถึงมีสีสันสวยงามเพิ่มความน่าใช้ และน้องๆ ยังสามารถเขียนชื่อที่หน้ากากได้เพื่อป้องกันการสูญหายหรือสลับกัน โดยโครงการจะมอบให้คนละ 2 ชิ้น”

นอกจากนี้มูลนิธิเอสซีจีและมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ยังได้จัดโครงการประกวดภาพวาดระบายสี “เด็กไทยสู้ภัยโควิด” (Thai Kids Fight COVID) ในหัวข้อการดูแลตัวเองที่โรงเรียน ให้ห่างไกลจากโควิด -19 เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เห็นความสำคัญของการป้องกันตนเอง รวมไปถึงการปลูกฝังเรื่องสุขลักษณะในชีวิตประจำวัน เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การล้างมือ เป็นต้น ทั้งนี้ได้แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ปีที่ 1 – 3 และ ระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ปีที่ 4 – 6 โดยวาดภาพผลงานลงบนกระดาษขนาด A3 ไม่จำกัดเทคนิคการวาด สามารถใช้สีได้ทุกประเภท

“การจัดการประกวดวาดภาพระบายสีครั้งนี้ เราได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการไปยังโรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็ก ๆ ทั่วประเทศ ได้ส่งภาพเข้าประกวดอีกทั้งยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร เป็นประธานคณะกรรมการตัดสิน รวมถึงศิลปินผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ คุณครูสังคม ทองมี” นายรุ่งโรจน์กล่าว

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ให้ความเห็นว่า “ในหลายประเทศ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 พบว่ามาจากเด็กซึ่งไปโรงเรียน และเป็นเหตุให้โรงเรียนต้องปิด เพราะการดูแลเด็กๆ ให้ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ เป็นสิ่งที่ยากสำหรับพวกเขา ทั้งนี้ การที่เด็กไม่ยอมใส่หน้ากากนั้น อาจเป็นเพราะความไม่คุ้นชิน และอีกสาเหตุหนึ่งคือขนาดของหน้ากากที่ไม่พอดีกับใบหน้าของพวกเขา นอกจากนี้ การที่เราจัดให้มีโครงการประกวดวาดภาพฯ ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ทั้งในเด็ก ผู้ปกครอง ตลอดจนครูอาจารย์ เป็นการให้เห็นความสำคัญว่าหน้ากากเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยป้องกันพวกเขาจากโควิด-19 การประกวดวาดภาพจึงเปรียบเสมือนกุศโลบายขับเคลื่อนการตระหนักรู้โดยใช้พลังเด็กอีกด้วย ผมมั่นใจว่าการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทุกช่วงวัย จะช่วยลดอุบัติการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศไทย ผมขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจี องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ช่วยรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมในการใส่หน้ากากของเด็ก ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้จะทำให้เด็กๆ อันเป็นอนาคตของชาติมีความปลอดภัยมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาต้องอยู่ร่วมกันที่โรงเรียน”

โครงการประกวดวาดภาพระบายสี เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 20 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2563 ซึ่งจะคัดเลือกผู้เข้ารอบจำนวน ประเภทละ 20 ภาพ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในวันที่ 5 กันยายน 2563 แล้วเปิดให้ทางบ้านร่วมโหวตผ่าน Facebook มูลนิธิเอสซีจี ระหว่างวันที่ 6 – 18 กันยายน โดยภาพที่มียอด Like สูงสุดจะได้รับรางวัลขวัญใจมหาชน ซึ่งรอบสุดท้ายจะตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และประกาศผลผู้ชนะรางวัลในวันที่19 กันยายน 2563 ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาท รวมเงินรางวัล 160,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและประกาศนียบัตรจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย นอกจากนี้โรงเรียนต้นสังกัดของนักเรียนที่ได้รับรางวัลทั้งหมด จะได้รับชุดอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 ประกอบไปด้วย เครื่องวัดอุณหภูมิ โรงเรียนละ 2 เครื่อง และสเปรย์แอลกอฮอล์ โรงเรียนละ 100 ขวด

สำหรับผู้ที่สนใจส่งภาพผลงานของนักเรียนเข้าประกวด สามารถศึกษากติกาและดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.org หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2586 2042 และ 0 2586 1190 และเฟซบุ๊กมูลนิธิเอสซีจี

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ