นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่มเคทิสพร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐที่จะเร่งรัดพัฒนาประเทศด้วยโมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยกลุ่ม KTIS เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน จำนวน 18 หน่วยงาน โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน
“กลุ่มเคทิสเรามีนโยบายในการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับโมเดล BCG เพราะเราต้องสร้างความมั่นคงทางรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ (B) ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร อีกทั้งยังเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (C) โดยกระบวนการผลิตของกลุ่มเคทิสเป็น Zero Waste Factory คือการนำสิ่งเหลือใช้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (G) คือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการรณรงค์ให้ชาวไร่ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมให้ใช้ชีววิถีในการจัดการแมลงศัตรูพืช รวมถึงการรณรงค์ส่งเสริมให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด เช่น ให้สิทธิในการนำอ้อยสดเข้าหีบก่อน การจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ชาวไร่เพื่อซื้อรถตัดอ้อย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดอ้อยสด และการใช้รถตัดอ้อยของโรงงานเองเข้าไปบริการชาวไร่” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า โครงการหนึ่งที่ดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพคือ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเตรียล จำกัด (GKBI) บริษัทร่วมทุนในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ระหว่าง บริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% กับบริษัท จีจีซี เคมิคอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) โดยโครงการนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การนำเข้าและติดตั้งเครื่องจักรล่าช้ากว่ากำหนดเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะดำเนินการได้ทันฤดูการหีบอ้อยปี 64/65 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2564
“โครงการนี้เป็นไบโอคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทยที่สอดรับกับแนวนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) อันเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ชุมชนใกล้เคียงก็จะมีเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย โดยในเฟสแรกจะมีโรงหีบอ้อย กำลังการผลิต 24,000 ตันต่อวัน โรงผลิตเอทานอล กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ กำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 85 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 475 ตันต่อชั่วโมง” นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว