นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ได้ลงพื้นที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพบปะกับสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในอำเภอสันป่าตอง กว่า 400 คนที่มารอต้อนรับ และมอบนโยบายให้กับข้าราชการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานตามนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะการนำระบบสหกรณ์เข้ามาดูแลเสริมสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัย พร้อมขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน เพื่อสานต่ออาชีพการเกษตร ดึงคนรุ่นใหม่กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด หันมาทำอาชีพการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งปลูกข้าว ปลูกพืชผักผลไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงโคเนื้อ โคนม โดยประสานความร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงและแนะนำเรื่องอาชีพ เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้เข้มแข็ง
สำหรับในอำเภอสันป่าตอง พื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับทำการเกษตร มีพื้นที่ทำเกษตรประมาณ 79,565 ไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าว ลำไยและถั่วเหลือง รวมถึงเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้ โดยมีสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ระดับอำเภอ มีสมาชิก 10,005 ราย ทุนดำเนินงานกว่า 927 ล้านบาท ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว(สันป่าตอง) ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นชื่อของอำเภอสันป่าตอง และรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย และถั่วเหลือง โดยสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาด ทั้งโรงสีข้าวที่ได้มาตรฐาน GMP กำลังการผลิต 40 ตันต่อวัน และไซโล เก็บข้าวเปลือกได้ 500 ตัน เครื่องอบลดความชื้น และลานตาก และในช่วงฤดูลำไยของทุกปี (ก.ค.-ส.ค.)ทางสหกรณ์เปิดรับซื้อลำไยจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อจำหน่ายเป็นลำไยสดและมีตู้อบลำไย เพื่อแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งส่งให้กับเอกชนนำไปจำหน่ายประเทศจีนด้วย
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบตะกร้าบรรจุผลไม้ ให้กับสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรสารภี จำกัด สหกรณ์การเกษตรโหล่งขอดสามัคคี จำกัดและสหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ จำกัด ซึ่งครม.ได้จัดสรรงบกลาง 45 ล้านบาท สำหรับใช้บริหารจัดการและกระจายผลไม้ผ่านกลไกสหกรณ์ทั่วประเทศ ซึ่งจะเน้นผลผลิตมังคุดและลำไยเป็นหลัก และส่วนหนึ่งได้ให้สหกรณ์นำไปจัดซื้อตะกร้าผลไม้ เพื่อนำไปขนส่งขนลำไยส่งจำหน่ายให้กับคู่ค้า และกระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภคได้รวดเร็วมากขึ้น ป้องกันปัญหาลำไยกระจุกตัวในพื้นที่
จากนั้น ได้เดินชมสินค้าและผลผลิตของเกษตรกรที่นำมาจำหน่ายในซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ของสหกรณ์การเกษตรสันป่าตอง จำกัด ซึ่งเปิดเป็นจุดจำหน่ายผลผลิตของสมาชิก มีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวเหนียวและร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ นำไข่ไก่สดจากสหกรณ์ผู้เลี้ยงไข่ไก่เชียงใหม่-ลำพูน นม UHT จากสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด ผักผลไม้เมืองหนาว จากชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด มาจำหน่ายให้กับชาวบ้านได้มีโอกาสเลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่สดใหม่ คุณภาพดีจากฟาร์มของเกษตรกรด้วย ซึ่งผลจากการเชื่อมโยงตลาดและการนำผลผลิตการเกษตรและสินค้าของสมาชิกสหกรณ์ มาจำหน่ายในพื้นที่ซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ ส่งผลช่วยสร้างมูลค่าธุรกิจสหกรณ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าว ผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม และกาแฟ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับสหกรณ์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการซูเปอร์มาเก็ตสหกรณ์ในหลายพื้นที่ต่อไป
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้พบปะกับตัวแทนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สมัครเข้าโครงการ นำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้านฯ 6 ราย ที่อาศัยอยู่ในอำเภอสันป่าตอง ส่วนใหญ่ทำสวนลำไย มะนาว มะม่วง พืชผักสวนครัว เลี้ยงปูนา ทำปุ๋ยไส้เดือน และปลูกข้าว มีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวไรซ์เบอรี่ ซึ่งบางรายได้มีการนำผลผลิตมาแปรรูปและจำหน่ายทางช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่งมีผลภัณฑ์ที่น่าสนใจ อาทิ น้ำปู ข้าวกล้องอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอรี่ ชุดทดลองปลูกข้าว ครีมอาบน้ำกลิ่นกาแฟ สบู่อโรม่าตะไคร้ภูเขา สบู่ล้างมืออโรม่า สบู่เหลวน้ำนม ซึ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคไวรัสโควิด -19 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ให้เจ้าหน้าที่โทรติดต่อสอบถามผู้สมัครถึงความสนใจในการทำอาชีพการเกษตร เพื่อแยกกลุ่มตามสาขาอาชีพทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมง และลงพื้นที่ทีมย่อยพบปะ ให้กำลังใจ ดูความพร้อมของพื้นที่การทำเกษตรและจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการเกษตรระหว่างผู้สมัครด้วยกัน จากการพูดคุยกับเกษตรกรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่คือต้องการความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร การทำเกษตรผสมผสานและเกษตรอินทรีย์
นางสาวอัจฉรา จุมภูก๋า อายุ 40 ปี เกษตรกร ต.บ้านร้องตีมีด อ.สันป่าตอง กล่าวว่า ปัจจุบันทำนาและการเกษตรผสมผสาน 28 ไร่ โดยรับต่อมาจากบิดาที่ทำนาเป็นหลัก เพิ่งมาทำเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยใช้การอ่าน การหาความรู้ และการทำนาแบบดั่งเดิมของบิดา นำผลผลิตมาแปรรูปเป็นข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้อง และยังเลี้ยงปูนา เลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยไส้เดือน และขายผ่านทางออนไลน์ จากนั้นมีการวางแผนการผลิตและการทำนาแบบนอกกรอบ มีการจดบัญชีครัวเรือน แม้จะทำเพียง 4 ปี แต่ค่อนข้างประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร จนมีหน่วยงานมาดูงาน โดยที่สนใจสมัครเข้าโครงการลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน เพราะต้องการมาต่อยอดความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกคนอื่น และมีความเชื่อมั่นว่าอาชีพทำการเกษตรสามารถเป็นอาชีพที่อยู่ได้ สร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้ และต้องการพิสูจน์ว่าเกษตรกรสามารถยืนแถวหน้าในวงสัมมนาได้ อยากลบภาพเกษตรกรที่ถูกมองว่ารอแต่ความช่วยเหลือ และเป็นเกษตรกรต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป