ทั้งนี้ ลำไยเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกมากในภาคเหนือ 8 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และตาด ซึ่งมีพื้นที่ปลูกลำไยรวม 650,446 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 637,588 ไร่ คาดว่าในปีนี้จะมีปริมาณผลผลิต 635,394 ตัน ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือน มิ.ย. - ก.ย. 2563 และกระจุกตัวในช่วงเดือนสิงหาคม ประมาณ 234,947 ตัน หรือร้อยละ 60.86 ของผลผลิตทั้งหมด และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส หรือโควิด -19 ที่แพร่ไปทั่วโลก กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการส่งออกลำไยของไทย เช่น จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ทำให้การส่งออกชะลอตัว จากสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 อนุมัติงบประมาณโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรวงเงิน 45 ล้านบาท เน้นมังคุด ลำไย ใช้ในการบริหารจัดการและการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือและลดการกระจุกตัวของผลไม้ในพื้นที่ต้นทาง ป้องกันราคาผลผลิตตกต่ำ โดยสนับสนุนงบประมาณในการบริหารและกระจายผลไม้ อุดหนุนค่าขนส่ง และส่วนหนึ่งให้สหกรณ์นำไปจัดซื้อตะกร้าผลไม้สำหรับการบรรจุลำไยขนส่งไปยังตลาดปลายทาง เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกรและอำนวยความสะดวกในการกระจายผลไม้ไปสู่ผู้บริโภค
ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตลำไยในจังหวัดลำพูน ปีนี้จะมีผลผลิตประมาณ 249,969 ตัน พื้นที่ปลูก 269,489 ไร่ เกษตรกร 44,490 ราย มีผลผลิตลำไยในฤดู 138,588 ตัน มูลค่าประมาณ 1,261 ล้านบาท ลำไย 138,588 ตัน แยกเป็นการบริโภคสด 41,588 ตัน แบ่ง เป็นตลาดในประเทศ 8,300 ตัน ส่งออก 33,288 ตัน เพื่อการแปรรูป 97,000 ตัน ขณะนี้ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดไปแล้วประมาณ 10% โดยมีสหกรณ์ 4 แห่งในจังหวัดลำพูน ได้มีแผนรบรวมลำไย ปี 2563 ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด แผนรวบรวมจำนวน 2500 ตัน สหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรป่าซาง จำกัด 400 ตัน สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธกส.ลำพูน จำกัด 500 ตันและสหกรณ์การเกษตรโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม จำกัด จำนวน 100 ตัน โดยจะเน้นการจำหน่ายตลาดภายในประเทศเป็นหลัก
นอกจากนี้ จังหวัดลำพูนได้งบประมาณจากโครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรเพื่อรองรับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 976,000 บาท มีสถาบันเข้าร่วมโครงการ 2 แห่งคือ สหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรป่าซาง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด โดยเป้าหมายรวบรวม 480 ตัน ซึ่งสหกรณ์รับซื้อลำไยเกรดเอเอ หรือเกรดเอจากสมาชิกในราคาประมาณ 24-25 บาทต่อกก. ซึ่งเป็นราคานำตลาดที่รับซื้อประมาณ 22-24 บาทต่อกก. เป็นการจูงใจให้สมาชิกผลิตลำไยคุณภาพ และได้มีการจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชนทั้งห้างโมเดิร์นเทรด ทั้งแมคโคร โลตัส เดอะมอลล์ ท๊อปซูปเปอร์มาเก็ต กระจายลำไยประมาณ 2,000 ตัน ซึ่งห้างเกือบทุกแห่งต้องการสินค้าจากระบบสหกรณ์ รวมถึงยังมีเครือข่ยสหกรณ์และศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์อีก 39 แห่งใน 22 จังหวัดจะรวมกระจายลำไยจากลำพูนสู่ผู้บริโภคจังหวัดต่าง ๆ อีก 480 ตันด้วย
ขณะเดียวกัน ทางสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด ได้ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จำหน่ายลำไยคุณภาพผ่านทางไปรษณีย์ ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นความร่วมมือกันมายาวนานตั้งแต่ปี 2553 เป็นวิธีการจำหน่ายโดยการสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์และที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายที่ทันกับยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อผลผลิตลำไยของสมาชิกสหกรณ์ได้โดยสะดวก และจะช่วยเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์ให้เพิ่มมากขึ้น และทางสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด ยังได้รวบรวมลำไยคุณภาพ GAP ส่งให้บริษัทเอกชนส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีน โดยขนส่งด้วยรถคอนเทรนเนอร์ใช้เส้นทางผ่านทางจังหวัดนครพนม และวิ่งเข้าทางชายแดนไทยจนไปถึงประเทศจีน ซึ่งได้เริ่มส่งไปแล้วจำนวน 3 ตู้คอนเทรนเนอร์ ซึ่งทางผู้กระจายสินค้าในจีนแจ้งว่าสามารถกระจายลำไยภายในวันเดียว เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนนิยมลำไยจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งจองลำไยจากสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด เพื่อส่งผ่านทางไปรษณีย์ไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปล่อยคาราวานรถขนลำไย จำนวน 4 คันรถ เพื่อเป็นการเริ่มต้นการกระจายผลผลิตลำไยคุณภาพจากสหกรณ์ในลำพูนสู่ตลาดในประเทศ จากนั้นได้มอบตะกร้าบรรจุลำไยให้แก่สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด และสหกรณ์ส่งเสริมเกษตรกรป่าซาง จำกัด จำนวน 16,000 ใบและผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้มอบเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้กับสหกรณ์ใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก และกล่าวให้กำลังใจแก่สมาชิกและคณะกรรมการสหกรณ์ที่มาต้อนรับ พร้อมกล่าวว่า คาดหวังว่าการที่รัฐช่วยสนับสนุนบางส่วน จะช่วยลดต้นทุนให้กับสหกรณ์ในการกระจายผลผลิตของสมาชิก และช่วยกระตุ้นให้สมาชิกหันมาปรับเปลี่ยนทำลำไยคุณภาพแทนการปลูกลำไยแบบขายคละเกรด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดีและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในอนาคต