ทั้งนี้ อำเภอพร้าวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะพื้นที่ล้อมรอบด้วยป่าไม้และภูเขาและมีพื้นที่ราบลุ่มบางส่วน ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 94 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 798,308 ไร่ แบ่งเป็น 11 ตำบล 98 หมู่บ้าน ประชากรทั้งสิ้น 48,785 คน อาชีพหลัก คือ ทำการเกษตร ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ โดยมีพื้นที่ทำการเกษตรรวม 92,089 ไร่ และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว ลำไย มะม่วง ข้าวโพดและถั่วเหลือง
สำหรับนิคมสหกรณ์พร้าว มีภารกิจในการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน ในเขตอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพื้นที่นิคมสหกรณ์พร้าว มีจำนวน 67,082 ไร่ และได้มีการออกหนังสือแสดงการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคมสหกรณ์ กสน.3และกสน.5 แล้ว 49,4999 ไร่ 8,912 ราย
นอกจากนี้ ในเขตนิคมสหกรณ์พร้าว ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นในพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรและส่งเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยทางนิคมสหกรณ์พร้าวได้ดูแลรับผิดชอบคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ มีการฝึกอบรมถ่ายทอดความรู้และร่วมวางแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการจัดการธุรกิจของสหกรณ์อย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีการจัดตั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ 26 แห่ง แบ่งเป็นสหกรณ์การเกษตร 10 แห่ง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 4 แห่ง สหกรณ์นิคม 2 แห่งและกลุ่มเกษตรกร 10 แห่ง และได้มีการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตและการตลาดในพื้นที่อำเภอพร้าว ประกอบด้วย 6 โครงการหลัก ได้แก่ ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอพร้าว โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำ การผลิตสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP โครงการจัดทำบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ และโครงการเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่นิคมสหกรณ์
ทั้งนี้ เกษตรกรที่อยู่ในเขตนิคมพร้าว 65 ราย ได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ 168 ไร่ ซึ่งกรมฯได้สนับสนุนปัจจัยการผลิตและจัดสรรงบประมาณสร้างโรงเรือนขนาด 6x30 เมตร จำนวน 8 หลัง ให้กับเกษตรกรเพื่อปลูกพืชผักปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชผักสวนครัว เช่น ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ผักกวางตุ้ง ที่ทางนิคมสหกรณ์ได้จัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ การวางแผนการผลิตร่วมกับเกษตรกร และเชื่อมโยงการตลาด โดยรวบรวมผลผลิตผักอินทรีย์ส่งไปจำหน่ายที่ตลาดในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในอนาคตคาดหวังว่านิคมสหกรณ์พร้าวจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าปลอดภัยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย พร้อมทั้งจะผลักดันให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนให้ดีขึ้น
จากนั้น ได้เยี่ยมชมแผนการเพาะปลูกพืชผักอินทรีย์ของสมาชิกสหกรณ์นิคมพร้าว จำนวน 2 รายและเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมโครงการนำลูกหลานเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร ซึ่งมีพื้นที่ทำเกษตรในเขตนิคมพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และสมัครใจจะกลับมาทำการเกษตรในแบบเกษตรอินทรีย์วิถีชาวบ้านแบบผสมผสาน ปลูกไม้ผล มัลเบอรี่ ลำไย มะม่วง มะนาว เสาวรส พืชสมุนไพร และผักพื้นบ้านตามฤดูกาล โดยจะทำเกษตรอินทรีย์ที่รักษาระบบนิเวศในฟาร์ม เพื่อให้ทุกอย่างเกื้อกูลกัน พร้อมทำการตลาดโดยการขายผ่านออนไลน์ พร้อมบริการส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง ในอนาคตจะมีการต่อยอดแปรรูปผลผลิตในฟาร์มเป็นสินค้าชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าด้วย
ทั้งนี้ โครงการนำลูกเกษตรกรกลับบ้าน สานต่ออาชีพการเกษตร เป็นนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับมาอยู่ในภูมิลำเนา เพื่อสืบสานอาชีพการเกษตรของพ่อแม่และได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้ส่วนใหญ่ต้องการองค์ความรู้การทำเกษตรแบบผสมผสาน และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาอาชีพ ซึ่งจะเน้นส่งเสริมให้ทำเกษตรแบบสมัยใหม่ รู้จักการวางแผนการผลิตและการตลาดให้เหมาะสม พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้สหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้ด้วย เพื่อช่วยกันสร้างงานในพื้นที่ และสนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ได้กลับมาสานต่ออาชีพการเกษตรและร่วมกันพัฒนาระบบสหกรณ์ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินพบปะกับเกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์นิคมพร้าว จำกัด ที่มารอต้อนรับ พร้อมกับกล่าวให้กำลังใจ