ฟิทช์คงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศบลจ.ไทยพาณิชย์ที่ 'Excellent(tha)’

อังคาร ๒๑ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๑๐
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ (National Investment Management Quality Rating) ของบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ 'Excellent(tha)’ แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆในการจัดอันดับดังนี้

กระบวนการการลงทุน: Strong

บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน: Excellent

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: Excellent

ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน: Consistent

บริษัทและการบริการลูกค้า: Excellent

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ

โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น 'Excellent’ 'Strong’ 'Proficient’ 'Adequate’ หรือ 'Weak’ โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศที่ระดับ 'Excellent(tha)’ แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุนที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

กระบวนการการลงทุน

ฟิทช์มองว่า SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีในการบริหารกองทุนที่หลากหลาย บริษัทมีการวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึกและเลือกลงทุนอย่างมีระบบ และมีระบบการประเมินผลการดำเนินงานของการลงทุนที่บันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากนี้บริษัทมีการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณ (quantitative tools) และปัจจัยเชิงคุณภาพ (qualitative factors) เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์การลงทุนและกระบวนการการลงทุน ผู้จัดการการลงทุนของบริษัทยังคงใช้เทคโนโลยี machine learning อย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมทั้งกองทุนตราสารหุ้นภายในประเทศและต่างประเทศ

กระบวนการการลงทุนของบริษัทยังคงมีความสม่ำเสมอแม้ในภาวะที่ตลาดทุนมีความผันผวนจากผลกระทบจากโคโรน่าไวรัสในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ฟิทช์เชื่อว่าความสม่ำเสมอของกระบวนการการลงทุนและการใช้เทคโนโลยี machine learning อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลให้กองทุนมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อาจส่งผลให้คะแนนในส่วนกระบวนการการลงทุนได้รับการปรับเพิ่ม

บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน

ฟิทช์เชื่อว่า SCBAM มีบุคลากรในการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ผู้จัดการการลงทุนของบริษัทมีประสบการณ์ ทำงานผสมผสานกันตามความเหมาะสมในแต่ละประเภทของกองทุน การพัฒนาระบบ machine learning และการนำมาใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของกองทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว ผู้จัดการการลงทุนอาวุโสส่วนใหญ่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทเป็นระยะเวลานาน บริษัทไม่ได้พึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่งมากเกินไป โดยมีทีมบุคลากรในระดับผู้บริหารที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้บริษัทมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจนและการแบ่งทีมตามสายงานอย่างชัดเจน ระบบงานต่างๆ มีความเชื่อมต่อกันผ่านระบบอัตโนมัติ รวมทั้งมีความพร้อมในการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการลงทุนที่หลากหลายของบริษัท บุคลากรในการจัดการการลงทุนมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนที่หลากหลาย ฟิทช์มองว่า SCBAM มีบุคคลากรและทรัพยากรด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการจัดการการลงทุน

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง

บริษัทแม่ของ SCBAM ซึ่งคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB; 'AA+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงโดยรวมของกลุ่ม แต่ได้มีการกระจายอำนาจ (decentralise) การบริหารความเสี่ยงให้กับบริษัทลูกในกลุ่ม การปรับโครงสร้างดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นเนื่องจากฝ่ายงานที่จัดตั้งขึ้นได้ย้ายมาจาก SCB และยังคงมีความรับผิดชอบและการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายงานกำกับและควบคุม (compliance) ยังคงรวมศูนย์ (centralized) อยู่ที่ SCB เพื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างอิสระในสถานะบุคคลที่สาม แม้ฝ่ายบริหารความเสี่ยงของ SCBAM จะยังคงมีความอิสระจากบุคลากรสายงานการจัดการการลงทุน แต่ทั้ง 2 สายงานยังคงทำงานรวมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อความสอดคล้องและผสานการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยง (integrated) ทีมบริหารความเสี่ยงใช้ระบบที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับการประเมินความเสี่ยงและการทดสอบภาวะวิกฤต

ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน

ผลการดำเนินงานของกองทุนภายใต้การบริหารของ SCBAM อยู่ในระดับที่สม่ำเสมอเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ (risk-adjusted performance) ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งมีสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (assets under management; AUM) มีผลการดำเนินงานของกองทุนอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้อื่นๆในอุตสาหกรรม สำหรับกองทุนหุ้นและกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) ผลการดำเนินการโดยรวมสอดคล้องกับกองทุนประเภทเดียวกันที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทอื่นๆ เช่นกัน

บริษัทและการบริการลูกค้า

SCBAM มีการดำเนินกิจการมาอย่างยาวนานในประเทศไทย โดยบริษัทจัดตั้งขึ้นในปี 2535 บริษัทมีเครือข่ายทางธุรกิจ (franchise) ที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน โดยมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลายในด้านนโยบายการลงทุน และมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) รวมอยู่ที่ 1.7 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 แม้บริษัทจะมีสัดส่วนกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยสนับสนุนเครือข่ายธุรกิจกองทุนรวมของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ยังคงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 70% ของ AUM ทั้งหมดของบริษัท

SCBAM มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แม้ว่าธุรกิจจัดการกองทุนต้องเผชิญกับความผันผวนอย่างมากเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจของบริษัท SCBAM ยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่า 40% ของกองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดในอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงถึงเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจ กองทุนส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (high net worth) การรายงานข้อมูลต่อผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สอดคล้องกับเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) เนื่องจากอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนปัจจุบันอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดแล้ว การปรับเพิ่มอันดับจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน) อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับ 5 ปัจจัยหลัก (pillars) ที่ใช้ในการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน ซึ่งได้แก่ กระบวนการการลงทุน บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน และบริษัทและการบริการลูกค้า การปรับลดคะแนนสำหรับปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย
๑๕:๓๘ MediaTek เปิดตัว Dimensity 8400 ชิป All Big Core รุ่นแรกสำหรับสมาร์ทโฟนพรีเมียม
๑๕:๕๔ เปิด 10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิจิทัลปี 2024 ปีแห่งความหลากหลายด้านป๊อปคัลเจอร์ โดย LINE ประเทศไทย
๑๕:๒๕ สุรพงษ์ ส่งมอบความสุข ขยายเวลาให้บริการสายสีแดง ถึง ตี 2 ในคืนเคานต์ดาวน์ เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน
๑๕:๐๗ เอ็นไอเอคัด 8 ผู้ประกอบการไทยสายการแพทย์ - สุขภาพ คว้าโอกาสบุกตลาดเยอรมนี - ยุโรป พร้อมโชว์จุดแข็งในงาน Medica 2024 ตอกย้ำไทย
๑๕:๒๖ EGCO Group คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA ตอกย้ำความมั่นใจนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
๑๕:๕๖ เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความสุขและความอุ่นใจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card ผ่าน กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ
๑๕:๔๘ แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกในไทย
๑๕:๓๒ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรชั้นนำผ่านนวัตกรรมการศึกษาและงานวิจัยระดับโลก พร้อมจุดประกายภาคเศรษฐกิจ - สังคม เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้สู่ พาร์ทเนอร์การเรียนรู้