ผลการสำรวจความเห็นดังกล่าว ได้รับการเปิดเผยในรายงานที่มีชื่อว่า Home and away: the new hybrid workplace? ซึ่งเจแอลแอลจัดทำขึ้น เพื่อประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบจากภาวะยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้พนักงานจำนวนมากของบริษัท/องค์กรต่างๆ ต้องทำงานจากที่บ้านเป็นเวลานาน โดยเป็นการสำรวจความเห็นพนักงานกลุ่มตัวอย่าง 1,500 คนใน 5 ประเทศใหญ่ของเอเชียแปซิฟิก
รายงานฉบับดังกล่าว ระบุว่า พนักงานพึงพอใจกับความมีอิสระในการทำงานที่บ้าน แต่ขณะเดียวกัน ส่วนใหญ่คิดถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่ออฟฟิศที่พนักงานมีปฏิสัมพันธ์และทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดมากกว่า
ทั้งนี้ จากการแบ่งกลุ่มผู้ร่วมการสำรวจตามอายุ พบว่า พนักงานในกลุ่มเจนมิลเลนเนียล (กลุ่มคนปัจจุบันที่มีอายุระหว่าง 20 เศษๆ ถึง 30 เกือบปลาย) เป็นกลุ่มที่สัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 66) ที่บอกว่าคิดถึงการทำงานในออฟฟิศซึ่งมีข้อดีในเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เป็นสถานที่ที่มีบรรยากาศการทำงานที่เป็นกิจลักษณะ และมุ่งเน้นการทำงานเป็นหลัก นอกจากนี้ ร้อยละ 81 ของพนักงานกลุ่มเจนมิลเลนเนียล แสดงความเห็นว่า เทคโนโลยีมีความพร้อมรองรับการทำงานที่บ้าน และร้อยละ 52 บอกว่า การทำงานที่บ้านได้ประสิทธิผลดีขึ้น อย่างไรก็ดี มีพนักงานจำนวนหนึ่งที่ยอมรับว่า ไม่สามารถจัดสถานที่ที่บ้านให้มีบรรยากาศเหมาะกับการทำงานได้จริงๆ
นายแอนโธนี เคาส์ ซีอีโอเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “พนักงานทั่วเอเชียแปซิฟิกสามารถปรับตัวให้ทำงานนอกออฟฟิศได้เป็นอย่างดี แต่ขณะเดียวกัน มีพนักงานจำนวนมากที่ยังคงต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานในรูปแบบออฟฟิศ ดังนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า ออฟฟิศสำนักงานจะยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อไปสำหรับบริษัท/องค์กรต่อไป แต่กระแสได้รับการยอมรับมากขึ้นเกี่ยวกับการให้พนักงานสามารถทำงานจากสถานที่อื่นที่ไม่ใช่ออฟฟิศ จะทำให้บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องศึกษากลยุทธ์ใหม่ในการกำหนดรูปแบบสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับวิถีการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไปของบุคลากร”
การที่พนักงานมีความคาดหวังสูงขึ้นว่า ในอนาคตองค์กรจะใช้รูปแบบสถานที่ทำงานไฮบริด คือการให้ทำงานได้ทั้งในออฟฟิศและจากที่บ้านหรือสถานที่อื่น จะมีอิทธิพลที่สำคัญต่อการกำหนดวัตถุประสงค์และวัฒนธรรมร่วมขององค์กร ทั้งนี้ ร้อยละ 29 ของพนักงานที่เข้าร่วมการสำรวจความเห็นมีความมั่นใจสูงต่ออนาคตของบริษัท และร้อยละ 27 มีความมั่นใจสูงในอนาคตการงานของตนเอง ในขณะที่พนักงานเจนมิลเลนเนียลมีความมั่นใจสูงกว่านั้น คือ ร้อยละ 35 และ 34 ตามลำดับ
พนักงานผู้ตอบแบบสำรวจมองว่า เป็นหน้าที่รับผิดชอบของบริษัทนายจ้างที่จะต้องสร้างทัศนคติเชิงบวกดังกล่าว และส่งเสริมให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ไม่ว่าจะทำงานจากที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ
รายงานของเจแอลแอลยังได้เสนอแนะประเด็นที่บริษัทนายจ้างควรพิจารณาสำหรับการดำเนินนโยบายสถานที่ทำงานไฮบริด ดังนี้
ออฟฟิศสำนักงานจะยังเป็นสิ่งจำเป็นต่อไป – การให้พนักงานทำงานจากสถานที่อื่นกำลังเป็นกระแสที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า บริษัทจะสามารถเข้าถึงบุคลากรที่มีความหลากหลายและกระจายตัวออกไปมากขึ้น แต่ความท้าทายจะอยู่ที่ความมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ดังนั้น โดยทั่วไป ออฟฟิศจะยังคงมีความสำคัญเนื่องจากเป็นสถานที่ที่เอื้อต่อการทำงานมากที่สุด
ออฟฟิศจะได้รับการออกแบบให้เป็นศูนย์กลางทางสังคม – ออฟฟิศให้วิถีชีวิตการทำงานที่ไม่สามารถสร้างเรียนแบบขึ้นมาที่บ้านได้ เป็นศูนย์กลางทางสังคมขององค์กรที่พนักงานมารวมตัวกันเพื่อเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกัน การออกแบบและกำหนดวัตถุประสงค์ใหม่ จะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ออฟฟิศเป็นสถานที่ที่พนักงานสามารถมีความร่วมมือระหว่างกันได้ แม้จะมีการแบ่งทีมสลับกันทำงานที่ออฟฟิศและที่อื่น
องค์กรแห่งอนาคตจะใช้นโยบายที่มีความยืดหยุ่นเกี่ยวกับสถานที่ทำงานของพนักงาน – การทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานจำนวนมากมีความสุขจากการมีความยืดหยุ่นและความสามารถในการควบคุมสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว ดังนั้น บริษัท/องค์กรต่างๆ จะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับสถานที่ทำงานสำหรับพนักงาน โดยอาจต้องพิจารณาการผสมผสานของสถานที่ทำงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานใหญ่ของบริษัท สำนักงานย่อย โคเวิร์คกิ้ง และบ้านของพนักงานเอง เพื่อให้มีสถานที่ทำงานแบบไฮบริดอย่างแท้จริง
นายร็อดดี อลัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “สำนักงานจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร เป็นสถานที่ก่อกำเนิดวัตถุประสงค์ร่วม ตอบสนองความต้องการและเติมเต็มชีวิตหน้าที่การงานของบุคลากร ในขณะที่สถานการณ์โควิด-19 เข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบของสำนักงาน ดังที่เห็นได้จากการเกิดขึ้นของสถานที่ทำงานแบบไฮบริดที่มีการผสมผสานให้เกิดความคล่องตัว”
นายไมเคิล แกลนซี ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจตัวแทนซื้อขายให้เช่า เจแอลแอล ประเทศไทย กล่าวว่า “บริษัทต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ กำลังอยู่ในช่วงของการประเมินกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับสถานประกอบการของตน โดยเน้นให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยของพนักงาน ในขณะเดียวกัน มีโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานที่กำลังจะทยอยสร้างเสร็จในอีกราว 6 ปีข้างหน้าคิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 2.4 ล้านตารางเมตร หมายความว่า บริษัทต่างๆ จะมีโอกาสมากขึ้นในการเลือกเช่าพื้นที่สำนักงานและปรับกลยุทธ์การใช้พื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ของการทำงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ สะท้อนให้ถึงวิวัฒนาการครั้งสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับสถานที่ทำงานสำหรับบริษัท/องค์กรต่างๆ”
ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ฟรีที่ https://www.jll.co.th/en/trends-and-insights/research/home-and-away-employee-survey