นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน(22ก.ค.63)อ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 31,783 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 8,075 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) ปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 7,407 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 711 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2562/63 นั้น กรมชลประทานได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งปี จำนวน 15 จังหวัด 62 อำเภอ 103 ตำบล 243 หมู่บ้าน ได้แก่ สุโขทัย ตาก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี บุรีรัมย์ นครราชสีมา นครนายก เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง โดยแบ่งเป็น พื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จำนวน 16 แห่ง พื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร อีกจำนวน 14 แห่ง ด้วยการจัดส่งรถบรรทุกน้ำ จำนวน 8 คัน รวม 32 เที่ยว เป็นปริมาณน้ำทั้งหมด 192,000 ลิตร รถบรรทุกน้ำสะสม จำนวน 131 คัน รวม 8,018 เที่ยว เป็นปริมาณน้ำทั้งหมด 53,301,000 ลิตร เครื่องสูบน้ำ จำนวน 77 เครื่อง ปริมาณน้ำ 2,352,091 ลบ.ม. เครื่องสูบน้ำสะสม จำนวน 876 เครื่อง ปริมาณน้ำรวม 1,608,496,751 ลบ.ม. สูบช่วยภัยแล้ง (อุปโภค-บริโภค และการเกษตร) 382,123,833 ลบ.ม. สูบผันน้ำ 1,226,372,918 ลบ.ม. เครื่องจักรกลอื่นๆ จำนวน 133 หน่วย (รถแบ็คโฮ, รถบรรทุกเทท้าย, รถขุดตีนตะขาบ, รถตักหน้าขุดหลัง, รถบรรทุกติดเครน และเครื่องผลักดันน้ำ) พร้อมซ่อมแซม/สร้างทำนบ/ฝาย จำนวน 7 แห่ง และขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 34 แห่ง
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะยังคงให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมของปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ซึ่งในขณะนี้เริ่มมีฝนตกในบางพื้นที่แล้ว กรมชลประทาน จะทำการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยจะเน้นเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งปีหน้า พร้อมขอความร่วมมือเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำในการเพาะปลูกพืช ในช่วงที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่วนพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้วขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำท่าในพื้นที่ช่วยเสริมในกรณีที่น้ำไม่เพียงพอ สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้เริ่มการเพาะปลูกขอให้เริ่มเพาะปลูกหลังกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป หรือจนกว่าฝนจะตกอย่างสม่ำเสมอ และมีปริมาณน้ำเพียงพอ จึงทำการเพาะปลูกได้