จากนั้น ผู้บริหารและหน่วยงานบูรณาการได้ร่วมเสวนาบนเวที กล่าวถึงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาและแนวทางการหนุนเสริมโครงการ “เกษตรยั่งยืนแม่วากโมเดล” โดยเน้นเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก และโครงการระบบน้ำเกษตรยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชผสมผสานหรือวนเกษตร สร้างป่าสร้างรายได้ เพื่อให้พื้นที่เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งบ้านแม่วาก เป็นตัวอย่างความร่วมมือของภาคีเครือข่าย และเป็นต้นแบบในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการฟื้นฟูป่า สร้างป่าสร้างรายได้ ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า มีรายได้ที่เพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้กล่าวถึงการพัฒนางานบนพื้นที่สูงที่นำมาใช้ในพื้นที่ว่า ได้ดำเนินงานโดยการนำเอาองค์ความรู้จากโครงการหลวง ศาสตร์พระราชาในรัชกาลที่ 9 มาถ่ายทอดสู่ชุมชนและจะใช้โมเดลของโครงการหลวงพัฒนาในชุมชนอื่นในพื้นที่ปฏิบัติงาน ของ สวพส. ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและต่างชาติให้การยอมรับ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นโครงการนำร่อง ที่ดำเนินงานในบ้านแม่วาก จากนั้นจะต่อยอดไปยังชุมชนอื่น ๆ และเป็นอีกโมเดลหนึ่งในการพัฒนาชุมชนระดับประเทศ และกิจกรรมการปลูกป่าที่จะสอดคล้องกับ “โครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า” ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นี้ พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10