รู้วิธีถนอมข้อสำคัญในร่างกาย ช่วยป้องกันอาการมือเท้าชาและข้อเข่าเสื่อม

ศุกร์ ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๐๙:๐๖
ผู้อ่านวัยทำงานทั้งหลายเคยมีอาการเหน็บชาตามปลายนิ้ว มือ หรือปวดเอว ปวดข้อเข่า โดยไม่ทราบสาเหตุบ้างหรือไม่ พอลองปรึกษาเพื่อนร่วมงาน ก็อาจได้คำแนะนำมาว่า “สงสัยนั่งผิดท่า” “ออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า” “ทำงานติดโต๊ะละสิ” แล้วก็ได้แนวทางรักษาเช่น “ลองไปนวดดูไหม” ทุกที

แน่นอนว่าหลังจากลองนวดดูแล้วก็ผ่อนคลายขึ้นจริง ๆ แต่หลังจากผ่านไปสักพัก อาการชาอาการปวดก็กลับมาเยือนอีก ยิ่งใครชะล่าใจและปล่อยทิ้งไว้ สุดท้ายอาการอาจรุนแรงขึ้นจนต้องไปพบแพทย์ ซึ่งเมื่อมาถึงขั้นนี้ก็ยังไม่แน่ว่าจะหายขาดหรือเปล่า ทำให้ต้องเสียเงิน เสียเวลา และเป็นปัญหาที่พบมากในกลุ่มวัยทำงานไปแล้ว

ตราบใดที่เรายังก้มดูสมาร์ตโฟนต่อเนื่องนาน ๆ ชอบนั่งเล่นเกมหน้าคอมพิวเตอร์หลายชั่วโมง หรือต้องยืนต้องนั่งในท่าเดิมตลอดวัน พฤติกรรมทั้งในยามพักผ่อนและทำงานเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อร่างกายทั้งสิ้น รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บบริเวณเส้นเอ็นกระดูก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะข้อต่อบริเวณคอ บริเวณเชิงกราน และข้อเข่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการเหน็บชาและอาการปวดหลายรูปแบบ

เมื่ออยากแก้ปัญหาเหน็บชาและอาการปวด หลายคนมักสนใจแก้ไขแค่ปลายเหตุ เพราะเข้าใจว่าถ้าไปพบแพทย์และได้ยามากินก็คงหาย แต่ในความเป็นจริง สาเหตุสำคัญของอาการเหน็บชาหรือปวดตามข้ออาจเกิดจากส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากจุดที่แสดงอาการด้วย

ซะกะอิ ชินตะโร (Sakai Shitarou) ประธานบริษัท Sakai Clinic Group ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬาจากประเทศญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของผลงานหนังสือ 2 เล่ม คือ “มือเท้าชา รักษาหายได้ด้วยตนเอง” และ “ข้อเข่าเสื่อม รักษาหายได้ด้วยตนเอง” ได้อธิบายไว้ว่า อาการเหน็บชาตามมือ เท้า หรืออาการปวดบริเวณเข่า อาจเกิดจากเส้นเอ็นหรือข้อต่อได้รับความเสียหาย โดยสืบเนื่องมาจากอิริยาบถที่ไม่เหมาะสมในขณะทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ

กรณีอาการเหน็บชาตามมือและเท้า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “สาเหตุที่ซ่อนอยู่” ในอวัยวะสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนคอ และข้อต่อกระดูกสันหลังกับเชิงกราน

กระดูกสันหลังส่วนคอเป็นที่มาของอาการเหน็บชาบริเวณมือ เพราะพฤติกรรมของคนปัจจุบันที่มักก้มหน้าใช้สมาร์ตโฟน หรือก้มหน้าพิมพ์งานเป็นเวลานาน กระดูกสันหลังส่วนคอจึงอยู่ผิดรูปจากที่ควรเป็น กล้ามเนื้อบริเวณลำคอเลยทำงานหนักขึ้น หากปล่อยไว้ไม่ปรับท่าทางเสียแต่เนิ่น ๆ อาการอาจลามไปยังกระดูกสันหลังส่วนที่อยู่ใกล้กัน และมีอาการรุนแรงขึ้นจนทำให้หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทได้

ขณะที่อาการเหน็บชาบริเวณเท้าเกิดจากความผิดปกติของข้อต่อกระดูกสันหลังกับเชิงกราน สาเหตุหลักมักมาจากการขยับตัวผิดท่า รวมถึงการนั่งหรือยืนหลังค่อม การยืนแอ่นพุง ส่งผลให้ข้อต่อช่วงสะโพก หัวเข่า และข้อเท้าบิดเบี้ยว การกระจายน้ำหนักและแรงกดทับบริเวณเท้าจึงแย่ลง เป็นเหตุให้สภาพกล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ และเอ็นกระดูกเสื่อมลงในที่สุด

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงสังเกตพฤติกรรมของตนเองแล้วรู้สึกหวั่น ๆ พอไล่เรียงกิจวัตรประจำวันดูก็คิดไม่ออกเลยว่าควรเริ่มต้นปรับตนเองอย่างไร ต้องเลี่ยงพฤติกรรมใดบ้าง และจะป้องกันไม่ให้ตนเองอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ได้จริงหรือ

ในหนังสือ “มือเท้าชา รักษาหายได้ด้วยตนเอง” ได้ไขข้อข้องใจเรื่องนี้ไว้แล้วว่า เราสามารถป้องกันอาการชาหรือเจ็บปวดซึ่งเป็นผลพวงของอิริยาบถที่ไม่ดีต่อข้อต่อในร่างกายได้ โดยการหมั่นทำบริหารกายวันละ 5 นาที ร่วมกับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เบื้องต้นเราอาจลองตรวจสอบอาการของตนเองตามหนังสือดูก่อน เช่น รู้สึกว่าคอไหล่ตึงหรือเคล็ดบ่อย ๆ ไหม ปกติชอบเล่นสมาร์ตโฟนทุกครั้งที่ว่างหรือเปล่า ทำงานนั่งโต๊ะใช้คอมพิวเตอร์หรือขับรถเป็นเวลานานใช่หรือไม่ หากมีอาการดวงตาอ่อนล้า ปวดหัว เวียนหัว และมีเสียงในหู เป็นไปได้ว่าข้อต่อกระดูกบริเวณลำคอเริ่มมีปัญหา ควรรีบปรึกษาแพทย์และเริ่มต้นทำกายบริหารอย่างถูกวิธี

ส่วนปัญหาปวดบริเวณข้อเข่า คนส่วนมากมักคิดว่าเกิดจากวัยที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ความจริงพฤติกรรมในวัยทำงานดังที่ยกตัวไว้ช่วงต้นก็ทำให้ข้อเข่าเจ็บปวดได้เช่นกัน เนื่องจากข้อต่อสำคัญ ๆ ในร่างกายมนุษย์มีอยู่ 3 จุด คือ ข้อต่อบริเวณคอ ข้อต่อบริเวณเชิงกราน และข้อเข่า ทั้ง 3 จุดทำหน้าที่รับแรงกระแทกและแรงกดทับร่วมกัน หากข้อใดข้อหนึ่งมีปัญหาจึงส่งผลต่อข้อต่อจุดอื่น ๆ ตามไปด้วย

ในหนังสือ “ข้อเข่าเสื่อม รักษาหายได้ด้วยตนเอง” ได้อธิบายสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมไวขึ้นว่า ร่างกายของเรามักอยู่ท่าที่ต้องงอเข่าโดยไม่รู้ตัวอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เอ็นกล้ามเนื้อบริเวณเข่าแข็งตึงและอักเสบได้ง่าย ทั้งยังทำให้ระยะการเคลื่อนไหวของข้อเข่าแคบลง กระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่าจึงถูกเสียดสีและสึกกร่อนง่ายขึ้น หากเราไม่ถนอมข้อเข่าตั้งแต่วัยทำงาน เมื่อแก่ตัวไปจึงประสบปัญหาข้อเข่าเสื่อมและมีโอกาสเสี่ยงกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นด้วย หนทางรักษาเข่าของเราให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพไปนาน ๆ จึงต้องอาศัยการทำกายบริหารอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอเช่นเดียวกับข้อต่อส่วนอื่น ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อเข่ามีความยืดหยุ่นและทำหน้าที่ซับแรงได้ดีดังเดิม

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่าบริหารแต่ละส่วน ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “ข้อเข่าเสื่อมรักษาหายได้ด้วยตนเอง!” และ “มือเท้าชารักษาหายได้ด้วยตนเอง!” ดังที่แนะนำไว้ในช่วงต้น หนังสือบาง ๆ ทั้ง 2 เล่มนี้จะอธิบายความรู้เกี่ยวกับอาการมือเท้าชาและภาวะข้อเข่าเสื่อมให้ผู้อ่านเข้าใจอย่างชัดเจน พร้อมรู้วิธีตรวจสอบอาการบาดเจ็บ และท่าบริหารอย่างง่ายที่นำไปปฏิบัติตามกันได้ทันทีที่บ้าน

ในเมื่อใช้ร่างกายของเราทำงานหนักกันไปแล้ว ก็อย่าลืมหันมาดูแลร่างกายตัวเองกันด้วยนะ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม