นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาคการธนาคารในการช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยและโลกของเราไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการดำเนินธุรกิจบนแนวคิดการธนาคารที่ยั่งยืน (Sustainable Banking) ภายใต้การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน การดำเนินงานที่โปร่งใสและ เป็นธรรม มุ่งสร้างสังคมให้เข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ที่ดีผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าตลอดช่วงชีวิต พร้อมคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาที่มีต่อผู้บริโภคว่าธนาคารจะดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
คุณปิติ ตัณฑเกษม - ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร.jpg
โดยทีเอ็มบีได้รับคะแนนสูงสุด เป็นอันดับ 1 จากการประเมินของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ประจำปี 2562 ซึ่งการประเมินครอบคลุมหมวดการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มสถาบันการเงินตามแนวปฏิบัติของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance Guide International) โดยพิจารณาข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อประเมินในระดับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดี ซึ่งทีเอ็มบีแสดงเจตนารมณ์ถึงนโยบาย แนวทางการบริหารจัดการ ตลอดจนผลการดำเนินงานขององค์กรอย่างโปร่งใสทั้งในด้านการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ธรรมาภิบาลที่ดี ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและมาตรฐานในระดับสากลตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
“การก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทีเอ็มบีในการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่ธนาคารที่ยั่งยืน ซึ่งทีเอ็มบีให้ความสำคัญและผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด และมองว่าการเป็นธนาคารไม่ใช่เป็นเพียงเพราะเราได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ต้องได้รับการยอมรับจากสังคมด้วย ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องสินเชื่ออย่างเดียวที่ทีเอ็มบีนำมาตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน แต่มีทั้งเรื่องการสร้างวินัยในการออมและการลงทุน รวมถึงโซลูชันทางการเงินอื่นๆ ที่ช่วยลูกค้าในการสร้างชีวิตการทางเงินที่ดีขึ้น”
นายปิติกล่าวด้วยว่า “เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจต้องมีความเชื่อมั่นจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ หรือการตลาด โดยจะต้องมาจากข้างในและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกวันนี้ทุกธนาคารได้นำเรื่องการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ซึ่งในภาคประชาชนเองก็ต้องช่วยกันผลักดันให้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวด้วย หากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาชน เดินไปพร้อมกันด้วยความเข้าใจก็จะช่วยส่งผลให้การผลักดันเรื่องนี้สำเร็จได้”
ด้านนายนริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ทีเอ็มบี กล่าวว่า “ทีเอ็มบีให้ความสำคัญเรื่องธนาคารที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบและนำมาสู่การวางแนวนโยบายในการดำเนินงานภายในองค์กร ที่อาจจะไม่ได้เผยแพร่สู่ภาคประชาชนอย่างแพร่หลาย ซึ่งในปี 2562 แนวนโยบายต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้นและมีการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น คะแนนที่ได้รับการประเมินจากแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทยจึงก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะทีเอ็มบีมองเรื่องความยั่งยืนและธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่สามารถแยกทั้งสองเรื่องนี้ออกจากกันได้ เป็นเรื่องที่ต้องนำมาเชื่อมและบริหารจัดการร่วมกันในการสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืนของธนาคารสำหรับผู้มีส่วนร่วมทุกส่วน”
นริศ อารักษ์สกุลวงศ์ หัวหน้ากลยุทธ์องค์กร ทีเอ็มบี.JPG
นายนริศ กล่าวเสริมถึงการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ว่า “ทีเอ็มบี มีแนวทางและนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากแรงกดดันภายนอก แต่เป็นแนวคิดของธนาคารเองที่ดำเนินการเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะมองว่าเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในระยะยาว อันเห็นได้จากนโยบายความรับผิดชอบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Environmental and Social Responsibility (ESR) Policy) ของธนาคาร เพื่อให้ความมั่นใจว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมจะได้รับการพิจารณา ประเมิน และบริหารจัดการอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบความเสี่ยงของธนาคาร และธนาคารจะไม่ให้การสนับสนุนแก่ธุรกิจซึ่งไม่อยู่ภายใต้หลักการที่กำหนดไว้ในนโยบาย รวมทั้งพนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการสนับสนุนนโยบาย ESR ของธนาคารได้”
ทีเอ็มบี พร้อมสานต่อพันธกิจการดำเนินธุรกิจการธนาคารที่ยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของทีเอ็มบีในการสร้างชีวิตการเงินที่ดีให้กับคนไทยทั้งประเทศ อันเป็นรากฐานที่จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมและโปร่งใสด้วยนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีในมิติด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน และคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
ทีเอ็มบีขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง “การเงินที่เป็นธรรม” จากผลการประเมินโดยFair Finance Thailand.JPG
ข้อมูลเพิ่มเติม Fair Finance Thailand
แนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย เป็นสมาชิกเครือข่ายของแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมนานาชาติ (Fair Finance International) ที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันพัฒนาการประเมินแนวปฏิบัติการเงินที่เป็นธรรมร่วมกับสถาบันวิจัย Profundo ซึ่งถูกนำมาใช้ประเมินสถาบันการเงินในระดับนานาชาติในประเทศที่มีเครือค่ายอยู่ทั้ง 10 ประเทศ ได้แก่ เบลเยี่ยม บราซิล เยอรมนี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน อินเดียและไทย