ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2563 จำนวน 10,765 ล้านบาท

ศุกร์ ๒๔ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๑๗
ในครึ่งแรกของปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างหนักจากผลกระทบของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) มาตรการปิดเมืองทั่วโลกและมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เป็นผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวอย่างหนัก ประกอบกับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าของไทยลดลงตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงตามไปด้วย การบริโภคภาคเอกชนลดลงอย่างมากจากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง และการหยุดชะงักของกิจกรรมภาคบริการ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนหดตัวจากความต้องการที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวจากการเร่งเบิกจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนและผู้ประกอบการในหลายภาค รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลายผลกระทบดังกล่าวมาเป็นลำดับ ในการนี้ธนาคารกรุงเทพได้ร่วมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทยโดยเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ อาทิ การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม การพักชำระหนี้ และออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยโดยปรับลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ เพิ่มวงเงิน รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปสำหรับทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อย ด้วยความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการและประชาชนยังคงเผชิญอยู่ ธนาคารกรุงเทพมีความมุ่งมั่นพร้อมเป็น “เพื่อนคู่คิด” ที่จะประคับประคองให้ลูกค้าผู้ประกอบการและประชาชนสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ ด้วยการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือลูกค้าให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอ เพื่อเสริมศักยภาพในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ธนาคารมีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกค้า พนักงาน และประชาชนเป็นสำคัญ โดยได้ดำเนินการตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยเพื่อร่วมป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และพร้อมเคียงข้างในการเป็นเพื่อนคู่คิดเพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ธนาคารกรุงเทพต้อนรับธนาคารเพอร์มาตาเข้าสู่ครอบครัวเสร็จสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2563

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ธนาคารกรุงเทพได้เข้าถือหุ้นธนาคารเพอร์มาตาในประเทศอินโดนีเซียที่ร้อยละ 89.12 เสร็จสมบูรณ์ นับเป็นสมาชิกใหม่ในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารกรุงเทพที่จะเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการด้านการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารในการเสริมสร้างรากฐานเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สำหรับงบการเงินรวมของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยในครึ่งแรกของปี 2563 ได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่วันที่ธนาคารเข้าถือหุ้น โดยธนาคารเพอร์มาตามีสินทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 336,964 ล้านบาท และหนี้สินจำนวน 285,022 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9 ของสินทรัพย์รวม และร้อยละ 8 ของหนี้สินรวมของธนาคาร

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักทั่วโลกและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารกรุงเทพยังคงยึดมั่นแนวทางในการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ควบคู่กับการดำรงฐานะการเงินและเงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืนพร้อมก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ของการดำเนินชีวิต (New Normal)

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,353,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการสินเชื่อที่คาดไว้ตั้งแต่ปลายปีก่อน สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 170.5 ทั้งนี้ ธนาคารยังคงอยู่เคียงข้างและดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิดเพื่อฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและก้าวเข้าสู่บริบทใหม่ของการดำเนินชีวิต (New Normal) พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการดูแลกระบวนการอำนวยสินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการดำรงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังทั้งในภาวะเศรษฐกิจปกติและภาวะถดถอย

ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่อง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 ธนาคารมีเงินรับฝากจำนวน 2,852,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 จากสิ้นปี 2562 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา เงินรับฝากเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากเงินรับฝากทุกประเภท จากการที่ลูกค้ามุ่งเน้นการบริหารสินทรัพย์โดยเน้นกลยุทธ์เชิงคุณภาพ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 82.5 สะท้อนถึงสภาพคล่องที่เพียงพอรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 16.6 ร้อยละ 14.0 และร้อยละ 14.0 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

กำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย ในครึ่งแรกของปี 2563 มีจำนวน 10,765 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2563 จำนวน 10,765 ล้านบาท ซึ่งได้รวมผลประกอบการของธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่วันที่ธนาคารเข้าถือหุ้น โดยกำไรสุทธิลดลงจากครึ่งแรกของปี 2562 เนื่องจากธนาคารมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อกันเงินสำรองสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการคาดการณ์วิกฤตในครั้งนี้ยังยากที่จะคาดคะเนเพราะเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบกว้างไกลต่อระบบเศรษฐกิจโลกไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจโดยตรงเหมือนที่ผ่านมาในอดีต

สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 หากไม่รวมธนาคารเพอร์มาตา รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ตามการเติบโตของสินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ที่ร้อยละ 2.31 สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงส่วนใหญ่จากกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง สาเหตุหลักจากการเปลี่ยนแปลงการรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อตาม TFRS 9 สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับครึ่งแรกของปี 2562 โดยมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 45.0 โดยธนาคารยังคงดูแลค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย เน้นการใช้จ่ายที่ช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยด้านสาธารณสุข รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงระบบงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และชะลอการใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นในช่วงภาวะซบเซา

การนำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่มาถือปฏิบัติ

ธนาคารและบริษัทย่อยได้นำมาตรฐานกลุ่มเครื่องมือทางการเงินฉบับใหม่ (ฉบับที่ 9) มาถือปฏิบัติกับงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยไม่ปรับงบการเงินเปรียบเทียบย้อนหลัง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การจัดประเภทและการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงิน การคำนวณการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางการเงินโดยใช้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง และการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อโดยใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Interest Rate: EIR)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ