สคร.12 สงขลา เตือน ช่วงเปิดเทอม ระวังเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยโรคมือ เท้า ปาก

พุธ ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๖:๒๕
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนระวังเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบผู้ป่วยมากในฤดูฝน เนื่องจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนเป็นสถานที่ที่มีคนอยู่ รวมกันจำนวนมาก ซึ่งง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคผ่านสิ่งของใช้และของเล่นได้

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก (Hand, foot and mouth disease) ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ว่า จากรายงานของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวนทั้งสิ้น 332 ราย ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยพบเพศชาย 192 ราย เพศหญิง 140 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 111.1 ราย รองลงมาคือกลุ่มอายุ 5 – 9 ปี อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 9.1 ราย สัดส่วนอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือเด็กในปกครอง ร้อยละ 90.36 รองลงมาคือนักเรียน ร้อยละ 8.43 และอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 0.6 ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุดคือจังหวัดนราธิวาส อัตราป่วยเท่ากับ 13.06 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ จังหวัดพัทลุง, สงขลา, สตูล, ตรัง, ปัตตานี, ยะลา, อัตราป่วยเท่ากับ 9.30, 9.21, 5.89, 4.23, 3.89 และ 0 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

ด้วยขณะนี้เป็นช่วงการเปิดภาคเรียน ประกอบกับในช่วงนี้เป็นฤดูฝน สภาพอากาศที่เย็นและชื้น ทำให้มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ง่าย นอกจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) แล้ว ยังมีโรคมือ เท้า ปาก ที่ผู้ปกครองและครูควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีแนวโน้มพบอัตราป่วยมากที่สุด สคร.12 สงขลา จึงขอให้ผู้ปกครองและครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก และโรคโควิด 19

สำหรับ โรคมือ เท้า ปาก พบบ่อยในทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ ทั้งนี้ เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสเข้าไปทางปากโดยตรง จากการติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หากผู้ป่วยได้รับเชื้อจะมีอาการเล็กน้อย เช่น มี ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก ที่เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้ 1.โรงเรียนหรือสถานศึกษา ควรมีการคัดกรองเด็กทุกเช้าก่อนเข้าเรียน สอนให้เด็กล้างมือเป็นประจำ หากพบเด็กป่วยให้แยกออกมา แจ้งผู้ปกครองให้มารับกลับและพักรักษาจนกว่าจะหายเป็นปกติ 2.หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของสถานที่และอุปกรณ์เครื่องใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ เช่น ภาชนะใส่อาหาร ห้องน้ำ ห้องส้วม ของเล่นต่างๆ 3.ผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กไปในสถานที่ที่มีคนแออัดเช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ สนามเด็กเล่น ตลาด ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับเด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรหยุดพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้เด็กอื่นๆ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากโรคมือ เท้า ปาก สามารถข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ