ระดมพลเดินเครื่องปั้นไทยเป็น “โรงงานอาหารโลก”ถกสภาอุตสาหกรรมสัปดาห์หน้าแปลงโรงงานเก่าเป็น “ฟู้ดแฟคตอรี่”
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) แถลงวันนี้ (29 ก.ค.) ว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เพื่อเดินหน้าโมเดล “เกษตรอุตสาหกรรมทันสมัย” โดยตกลงใน “5 กรอบความร่วมมือ 4 เป้าหมาย 1 แผน” ในการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 นั้น ในการประชุมครั้งที่ 2 ของ กรกอ. วันที่ 6 สิงหาคม ที่จะถึงนี้จะมีการพิจารณาแนวทางสร้างโอกาสในวิกฤติโควิดภายใต้แนวคิดส่งเสริมและพัฒนาประเทศไทยเป็นฟู้ดแฟคตอรี่ของโลก (โรงงานอาหารโลก) โดยปรับเปลี่ยนโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องปิดตัวเองลงจากพิษโควิด-19 ให้กลายเป็นโรงงานผลิตอาหาร
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมกับศูนย์ AIC สมุทรปราการ ชลบุรี และฉะเชิงเทราที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ซึ่งพบว่ามีโรงงานเอสเอ็มอีจำนวนมากประสบภาวะขาดทุนและปิดกิจการจากพิษโควิด19 รวมทั้งมีคนตกงานจำนวนมาก ดังนั้นจึงเกิดความคิดร่วมกันในการแก้ปัญหาและพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหาร ซึ่งในการประชุมสัปดาห์หน้าจะเชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมประชุมด้วย ประกอบด้วย หอการค้าไทย สภาผู้ส่งออก สมาคมธนาคารไทย สมาพันธ์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (ศูนย์ AIC)
สำหรับ “5 กรอบ 4 เป้าหมายและ 1 แผน” ได้แก่ กรอบความร่วมมือด้าน “การผลิต การแปรรูป การตลาด เทคโนโลยีและโลจิสติกส์”เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 เพิ่ม คือ “เพิ่มรายได้เกษตรกร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มจีดีพีประเทศ และแผนพัฒนาภาคการเกษตรในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง บน 5 คลัสเตอร์ทางการเกษตร ได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้ คลัสเตอร์ประมง คลัสเตอร์พืชพลังงาน คลัสเตอร์พืชสมุนไพร และคลัสเตอร์พืชมูลค่าสูง สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และยุคโควิดเพื่อเร่งต่อยอดภาคเกษตรด้วยโมเดล “เกษตรอุตสาหกรรมทันสมัย”