นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคสุขภาพและสุขอนามัยพืชไทย-จีนครั้งที่ 6 ในเดือนธันวาคม 2561 ทั้งไทยและจีนได้เห็นชอบร่วมกันให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ จำนวน 5 ชนิดตามพิธีสารที่ลงนามในปี 2547โดยผลไม้ไทยที่มีรายชื่ออยู่ในพิธีสารดังกล่าวและได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุกันไปแล้วในปี 2562 คือ ทุเรียน ลำไย ลิ้นจี่ มังคุด และมะม่วงส่วนผลไม้จากจีน คือ แอปเปิ้ล แพร์ พืชตระกูลส้ม องุ่น และพุทราโดยการนำเข้าและส่งออกผลไม้ชนิดที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วกำหนดให้ผลไม้ต้องมาจากสวนและโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งจากกรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) แล้วเท่านั้น
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้จัดส่งข้อมูลสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ไทยให้จีนพิจารณาขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของGACC เพิ่มอีก 4 ชนิด คือกล้วย มะพร้าว สับปะรด และขนุน โดยแยกเป็นกล้วยจำนวน 3,493 แปลง มะพร้าวจำนวน 2,203 แปลง ขนุน 1,148 แปลง และสับปะรด 3,101 แปลง ส่วนโรงคัดบรรจุของไทยที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและได้รับการประกาศรายชื่อในเว็บไซต์ของ GACC แล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,520 โรงงาน โดยผลไม้ทั้ง 4 ชนิดที่เพิ่มใหม่นี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตามเงื่อนไขการนำเข้าและส่งออกของทั้ง 2 ประเทศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกผลไม้สดรายใหญ่ของไทย โดยในปี 2561-2562ผลไม้ไทย5 อันดับแรกที่มีปริมาณการส่งออกไปจีนสูงสุด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าวอ่อน และ ขนุน โดยปริมาณการส่งออกผลไม้ทั้ง 5 ชนิดดังกล่าวไปจีนในปี 2562 สูงกว่า ปี 2561 มาก โดยเฉพาะขนุนเติบโตเร็วแบบก้าวกระโดดจากปริมาณการส่งออกในปี 2561 จำนวน21,688 ตัน ในปี 2562 เพิ่มปริมาณการส่งออกสูงขึ้นถึง 75,556 ตัน หรือเพิ่มสูงขึ้นกว่า 248%โดยมีผู้ส่งออกไทยจำนวน 25 บริษัทส่งออกขนุนพันธุ์ทองประเสริฐ และพันธุ์ทวาย 8 เดือนไปยังประเทศจีน ขนุนจึงเป็นผลไม้ไทยยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่น่าจับตามองการขยายตลาดในตลาดจีน เนื่องจากที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกเติบโตเร็วมาก โดยปัจจุบันจีนนำเข้าขนุนจากประเทศเวียดนามและไทย เมื่อมองในภาพรวมปี 2563 นี้ไทยได้ส่งออกผลไม้ไปจีนแล้วรวมปริมาณทั้งหมด 822,205 ตัน มูลค่ารวม60,076 ล้านบาท
“ไทยได้รับอนุญาตให้ส่งออกผลไม้ไปจีนจำนวน 22 ชนิด ซึ่งถือว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศคู่ค้าของจีนภายใต้เงื่อนไขผลไม้ที่จะส่งออกต้องมาจากแปลงที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานGAP และโรงคัดบรรจุที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GMP พร้อมทั้งต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุกับจีน โดยผลไม้ที่จะส่งออกไปจีนได้สวนและโรงคัดบรรจุต้องผ่านการพิจารณาขึ้นทะเบียนและประกาศในเว็บไซต์ของGACCแล้วเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันผลไม้ไทยที่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประกาศในเว็บไซต์ของGACCแล้วมีจำนวน 10 ชนิดคือ ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ มังคุด ชมพู่ กล้วย มะพร้าว สับปะรด และขนุน ดังนั้นหากสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ใดที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้เข้าสู่ระบบดังกล่าว ขอให้ยื่นเรื่องขอรับการตรวจรับรองได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานในส่วนภูมิภาคทั้ง 8 เขตของกรมวิชาการเกษตร” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว