ครั้งแรกในประเทศไทย ม.มหิดล จัดอบรม NeuroLeadership สร้างผู้นำสร้างสรรค์สังคม

พุธ ๐๕ สิงหาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๒๑
สมองซีกซ้ายใช้เหตุผล ในขณะที่สมองซีกขวาใช้อารมณ์ หากมีการใช้สมองทั้ง 2 ซีกอย่างสมดุล จะก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และยิ่งหากเสริมด้วย “ภาวะผู้นำ” (Leadership) จะทำให้เกิดทรัพยากรมนุษย์ผู้ทรงคุณค่าและสร้างสรรค์

เมื่อวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2563 สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์และการบริหารการศึกษาในระดับประเทศ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “NeuroLeadership For Innovative And Strategic Executives (NISE) หรือ ภาวะผู้นำเชิงประสาทวิทยาศาสตร์สำหรับผู้บริหารเชิงนวัตกรรมและกลยุทธ์” ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สุขุมวิท 20 รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวว่า NeuroLeadership เป็นนวัตกรรมการบริหารใหม่ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน เกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อประมาณ 12 – 13 ปีที่ก่อน โดยมี “SCARF Brain-Based Model” ซึ่งเป็นเครื่องมือโมเดลการบริหารตามธรรมชาติของสมอง (S ย่อมากจาก Status หรือ สถานภาพความสำคัญของตำแหน่งงาน, C ย่อมาจาก Certainty หรือความแม่นยำในการทำนายอนาคต, R ย่อมาจาก Relatedness หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และ F ย่อมาจาก Fairness หรือ ความยุติธรรม) ซึ่งผู้บริหารที่ดีควรมีการวางตัวในฐานะผู้สนับสนุนหรือชี้นำมากกว่าบังคับบัญชา มีการสื่อสารที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อมั่น สามารถ "อ่านคนขาด ใช้คนเป็น" เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี สามารถพูดจูงใจและสร้างแรงบันดาลใจได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์การบริหารที่มีชั้นเชิง ก่อให้เกิดความร่วมมือและผลลัพธ์ที่ต้องการ รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวต่อไปว่า ศาสตร์ของ NeuroLeadership สามารถนำมาจัดทีมเพื่อการบริหารอย่างมีกลยุทธ (Strategic Team Building) ได้โดยใช้หลักการอ่านคนลักษณะต่างๆ ตาม “DISCO Personality Style” ซึ่งแบ่งคนออกเป็น 5 ประเภท D คือ Dominant หรือพวกกล้าตัดสินใจแต่ไม่ละเอียด, I คือ Influential หรือพวกที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี เน้นคน, S คือ Supportive หรือพวกสนับสนุน หรือ "มดงาน", C คือ Conscientious หรือพวกสมบูรณ์แบบ และ O คือ Open Personality Styles หรือพวกชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน) ถ้าเราอ่านคนได้ว่ามีลักษณะการทำงานอย่างไร แล้วบวกด้วยการบริหารโดยใช้หลัก NeuroLeadership เราก็จะได้ทีมงานที่มีความหลากหลาย จากการสามารถเอาจุดเด่นของแต่ละคนในทีมมาผสมกันได้อย่างลงตัว

หลักการของ Neuroleadership คือ ทำอย่างไรให้ผู้ร่วมงานสบายใจและมีความสุข จนสมองหลั่งสารโดปามีนออกมา ทำอย่างไรผู้ร่วมงานมีความสุขได้จากการบริหารของเรา ซึ่งรูปแบบการบริหารไม่ได้จำกัดเพียงเจ้านายบริหารลูกน้อง แต่ลูกน้องก็สามารถบริหารเจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานก็สามารถบริหารกันเองก็ได้ ซึ่งคนที่รู้ศาสตร์ของ NeuroLeadership จะรู้วิธีการกำกับดูแลในเรื่องของอารมณ์เพื่อไม่ให้เกิด “Amygdala Hijack” หรือ การถูกโจมตีทางอารมณ์ โดย Amygdala คือกลุ่มเซลล์ประสาทที่อยู่บริเวณขมับ มีหน้าที่บันทึกความทรงจำเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ผู้บริหารที่ดีควรมีการฝึกปรับอารมณ์ความรู้สึกตัวเองให้คงที่ เพื่อให้เกิดสติปัญญาที่ดีในการใช้เหตุผล ศาสตร์ของ NeuroLeadership สามารถนำมาปรับใช้สำหรับนักศึกษา ทั้งในการเรียน การทำกิจกรรม และความประพฤติ ทำอย่างไรให้นักศึกษาของเรามีความสุข เราต้องสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้นักศึกษารู้สึกสนุกกับการเรียน ซึ่งจะทำให้สารโดปามีนหลั่งออกมาในสมองจากการมีความสุขกับการเรียนรู้ นอกจากนี้ ผู้สอนยังสามารถโน้มนำให้ผู้เรียนเกิด “จิตอาสา” หรือจิตที่อยากจะทำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน เริ่มด้วยการทำเป็นตัวอย่าง ผู้เรียนก็จะสามารถทำตามได้โดยที่ผู้สอนไม่ต้องสั่งหรือบังคับ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจะมี “Mirror Neuron” หรือ เซลล์ประสาทกระจก แสดงสัญชาตญาณในการทำตามแบบอย่าง ซึ่งการเป็นแพทย์ที่ดี ก็เกิดจากการที่นักศึกษาแพทย์ได้เห็นแบบอย่างที่ดี (role model) จากครูแพทย์ จากการมีคุณธรรมจริยธรรม และปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความเคารพ และเอื้ออาทร นอกจากนี้ แบบอย่างที่ดีในห้องเรียนจะสามารถส่งผลถึงพฤติกรรมภายนอกห้องเรียนได้ด้วย หากเราสามารถทำให้ผู้เรียนปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัย เช่น ความมีระเบียบ การใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวัง และการมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม หรือสังคม จากการทำให้ผู้เรียนเกิดการสะท้อนคิด (reflect) ว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เจอ ปัญหาเกิดจากอะไร เราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างปัญหาหรือไม่ และสุดท้ายสร้างบรรยากาศให้เกิดการมีส่วนร่วม เช่น ปัญหาโลกร้อนเกิดจากอะไร หากเราช่วยกันลดการใช้ทรัพยากรจะช่วยให้ปัญหาดีขึ้นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งการมีจิตสำนึกต่อส่วนรวม หรือการมุ่งผลเพื่อผู้อื่น (Altruism) ถือเป็นค่านิยมหลักที่เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมุ่งหวังที่จะผลิตบัณฑิตที่นำความรู้ความสามารถไปช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทน ตามเป้าประสงค์ของการผลิตบัณฑิต "เป็นคนดี มีปัญญา นำพาสุข" และตามพระราชปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ชัยเลิศ พิชิตพรชัย กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ