กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งเครื่องภาคการเกษตรไทย สู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” เสริมแกร่งความมั่นคงเศรษฐกิจฐานราก ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายสำรวจความต้องการเกษตรกร พร้อมยกระดับ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเร่งส่งเสริมเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีการแปรรูปที่เหมาะสมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป บนพื้นฐานเกษตรกรรมยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมได้กว่า 80 กลุ่มทั่วประเทศทันทีใน 90 วัน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งเน้น 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และคนว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “ภาคเกษตร” นับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะเศรษฐกิจฐานรากที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ กระทรวงอุตฯ จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งฟื้นฟูภาคเกษตรสู่ “เกษตรอุตสาหกรรมที่ดีพร้อม” เพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงให้กับประเทศ ภายใต้งบประมาณของกระทรวงฯ และการขอรับจัดสรรเพิ่มจาก พรก. เงินกู้กระทรวงการคลังฯ เพื่อให้การขยายผลสามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ
สำหรับ “เกษตรอุตสาหกรรม” ระดับต้นน้ำ เป็นการนำระบบการผลิตและบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในฟาร์ม เช่น การพัฒนาโดรนอัตโนมัติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการสำรวจผลผลิต ทั้งยังสามารถฉีดพ่นสารอินทรีย์สำหรับพืชผลทางการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับบริบทของเกษตรปลอดสารพิษในพื้นที่ นายสุริยะ กล่าว
ส่วนการพัฒนาใน ระดับกลางน้ำ หรือ กระบวนการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร หรือยืดอายุด้วยหีบห่อ โดยใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรกล และนวัตกรรมการแปรรูปที่มีประสิทธิภาพ และ ระดับปลายน้ำ ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจ ขยายช่องทางการตลาด รวมถึงตลาดออนไลน์ที่ทันสมัย โดยได้มอบหมาย ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry Transformation Center (ITC 4.0) ในทุกภูมิภาค ดำเนินการพัฒนาศักยภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายโซ่อุปทานของเกษตรอุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ที่มีการจัดการคุณภาพต่อเนื่อง ตั้งแต่วัตถุดิบสู่ตลาด และพัฒนาการจัดการระบบขนส่งสินค้า และเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึง “เทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่” ซึ่งกระทรวงได้ปั้นธุรกิจผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรที่ยังขาดแคลน ตลอดจนการปั้นธุรกิจผู้ให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรแปลงเล็กแบบครบวงจรในอัตราค่าบริการที่เหมาะสมและเข้าถึงได้
จากการขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรม กระทรวงได้ผนวกกับจุดแข็งของการสร้างความมั่นคงบนพื้นฐาน “การทำเกษตรกรรมยั่งยืน” ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการทำเกษตรที่มีความเหมาะสมกับวิถีชีวิตและความต้องการของแต่ละชุมชน จึงได้ผสานแนวคิดของการบริหารจัดการสมัยใหม่ของภาคอุตสาหกรรม เข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เพื่อนำร่องเป็น โมเดลเกษตรอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่แรก ภายใต้ “บ้านบึงโมเดล” เพื่อจะให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำดังกล่าว โดยมีความร่วมมือกับศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานรากตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพึ่งพากันในเครือข่ายเกษตรกร จึงสามารถต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากกระจายไปสู่ชุมชนเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ล่าสุด กสอ. ได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ อโลเวร่า สเปรย์ (Aloe Vera Spray) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีสีสันสวยงาม ทันสมัย ทั้งยังสะท้อนความเป็นสเปรย์ว่านห่างจระเข้ได้เป็นอย่างดีซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น มอบให้กับ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พร้อมกันนี้ กสอ.ได้สาธิตการทำงานของ “โดรนเจ้าเอี้ยง” ในพื้นที่แปลงเกษตรอินทรีย์ เพื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแบบอัจฉริยะ และเตรียมพัฒนาแอปพลิเคชัน Agricultural Machinery Services on Demand หรือ AMAS (อะ-มัส) เพื่อรวบรวมผู้ให้บริการทางการเกษตร ซึ่งถือเป็น “เทคโนโลยีเครื่องจักรกลสมัยใหม่” ที่เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรในการลดต้นทุนด้านเครื่องจักรกลและค่าบำรุงรักษา ทั้งยังช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตรงเวลาและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ “บ้านบึงโมเดล” ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมที่ได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้และสามารถต่อยอดการสร้างเกษตรอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งมีความพร้อมในการรองรับแรงงานที่มีแนวโน้มเดินทางกลับบ้านในช่วงว่างงาน ซึ่งนับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้บนพื้นฐานของ “เกษตรกรรมยั่งยืน” อย่างไรก็ดีกระทรวงอุตสาหกรรม มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรในทุกพื้นที่ ในทุกกระบวนการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านศูนย์ ITC 4.0 ที่มีความพร้อมเพื่อการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเกษตรอุตสาหกรรมได้กว่า 80 กลุ่มทั่วประเทศทันทีใน 90 วัน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414 – 18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th