นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 2/2563 มีกำไรสุทธิ 1,267 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.09% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,021 ล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง 63,174 ล้านบาท เพิ่มขึ้นคิดเป็น 16.08 % เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 54,421 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทฯมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 7,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.85% จากงวดเดียวกันปีก่อนมีรายได้สุทธิเท่ากับ 5,928 ล้านบาท
ปัจจุบัน บริษัทฯมีสาขาจำนวน 4,568 สาขา จากที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ 4,700 สาขา ขณะที่คุณภาพหนี้ หรืออัตราส่วนหนี้เสียสำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 1.05% ลดต่ำลงจากไตรมาสที่แล้วอันเนื่องมาจากมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ปัจจัยสนับสนุนให้มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการสินเชื่อที่กลับมาในช่วงปลายไตรมาส 2 จากเข้าสู่ช่วงการเปิดเทอม และช่วงฤดูกาลของภาคการเกษตร รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ช่วยส่งผลให้คุณภาพหนี้ดีขึ้น และระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นทำให้การตั้งสำรองลดลงตามไปด้วย รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดต่ำลงจากการออกหุ้นกู้ Public Offering มูลค่า 4,000 ล้านบาทในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมทั้งเงินกู้ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสินอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท
"ในช่วงครึ่งปีแรกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่บริษัทฯ ยังคงมีนโยบายการบริหารงานด้วยความระมัดระวังตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ผลการดำเนินงานในปีนี้ จะสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของพอร์ตสินเชื่อ รายได้ และกำไร โดยคาดว่าสินเชื่อในปีนี้จะเติบโต 20-25% และสามารถคุมNPLไม่ให้เกิน 2% ตามเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ต้นปี"
ประธานกรรมการบริหาร กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์ในครึ่งปีหลัง MTC จะมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การจัดการต้นทุนทางการเงิน ซึ่งจะช่วยรักษา Spread ให้คงที่ โดยเงินทุนใหม่ของบริษัทฯ บางส่วนมาจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และบางส่วนมาจากการออกหุ้นกู้มีต้นทุนที่ถูกลงกว่าหุ้นกู้เดิมที่จะถึงกำหนดชำระในครึ่งปีหลัง ทำให้บริษัทฯ คาดหวังว่า ต้นทุนทางการเงินในครึ่งปีหลังจะลดลงอีก เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก
ขณะที่การคุมคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 9 (TFRS9) ให้เหมาะสม และเพียงพอต่อความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้ โดยจะคุมหนี้เสียไว้ไม่เกินระดับ 2% ตามเป้าที่วางไว้ก่อนหน้านี้ ตลอดจนการเร่งผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับ Customer Experience เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตในระยะยาวและเพื่อสร้าง Competitive Edge เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นในอนาคต