ทั้งนี้ CKPower มีรายได้รวมในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 3,593 ล้านบาท ลดลง 1,136 ล้านบาท หรือ -24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 4,730 ล้านบาท โดยมีปริมาณการขายไฟฟ้ารวม 1,182 ล้านหน่วย ลดลง 618 ล้านหน่วย คิดเป็น -34% จากครึ่งปีแรกของปี 2562 ที่ขายไฟฟ้าได้ 1,799 ล้านหน่วย
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 กลุ่ม CKPower มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,831 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,312 ล้านบาท โดยมีปริมาณขายไฟฟ้ารวม 609 ล้านหน่วย ลดลง 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณขายไฟฟ้า 852 ล้านหน่วย โดยมีปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของ NN2 รวม 628 ล้านลบ.ม. เพิ่มขึ้น 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณน้ำไหลเข้า 460 ล้านลบ.ม.
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 โรงไฟฟ้าทุกแห่งของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพราะตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 และไหลผ่านโรงไฟฟ้าไซยะบุรีเพิ่มขึ้นตามลำดับ และมีแนวโน้มจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำของปีปกติอีกด้วย ซึ่งเป็นผลให้ขณะนี้โรงไฟฟ้าไซยะบุรีสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิตทั้ง 7 เครื่อง รวมจำนวน 1,220 เมกะวัตต์ ส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เกือบครบทุกแห่ง ยกเว้นโรงไฟฟ้าคลองเปรงโซลาร์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ระหว่างรอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมทั้ง BIC-1 และ BIC-2 ยังคงเดินเครื่องได้อย่างต่อเนื่องตามปกติ เนื่องจากยังไม่มีแผนที่จะหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ในปีนี้
“ช่วงไตรมาสที่ 3 ของทุกปี จะเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่งของบริษัทฯ จะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังมากที่สุดเพราะเป็นช่วงฤดูฝน และหากปีนี้มีปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติตามที่บริษัทฯ คาดการณ์ไว้ ปีนี้จะถือเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่ง เพราะเป็นปีแรกที่โรงไฟฟ้าไซยะบุรีเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและรับรู้รายได้เต็มปี ซึ่งจะส่งผลบวกอย่างเป็นนัยสำคัญต่อผลประกอบการของ CKPower” นายธนวัฒน์กล่าว
นายธนวัฒน์กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อดำเนินการลงทุนในโครงการใหม่ๆ ในสปป.ลาว และคาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ โดยบริษัทฯ ได้เตรียมงบลงทุนจำนวน 4,000-4,600 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโครงการใหม่และมีแผนจะออกเสนอขายหุ้นกู้มูลค่าประมาณ 3,500 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติวงเงินการออกและเสนอขายหุ้นกู้เป็นจำนวนเงินคงค้างจากวงเงินเดิม 10,000 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการสภาพคล่องและการชำระคืนหนี้ของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในขณะนี้ ไม่มีผลกระทบต่อรายได้และปริมาณการขายไฟฟ้าของบริษัทฯ แต่อย่างใด เพราะคู่สัญญาหลักของบริษัทฯ คือ กฟผ. แม้จะมีลูกค้าบางส่วนเป็นลูกค้าอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์มากนัก โดยบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญในการดูแลพนักงานของบริษัทฯ และบริษัทในเครือทั้งภายในประเทศไทยและสปป.ลาว ในการปฏิบัติตัวตามวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ตามนโยบายของรัฐอย่างเคร่งครัด” นายธนวัฒน์กล่าว