ด้าน นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว และปีนี้ถือเป็นการประชุม ครั้งที่ 5 โดยวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน นี้ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การประชุมทางวิชาการ การนำเสนอภาคบรรยาย ในโครงการนวัตกรรมและเทคโนโลยีของนักศึกษา การจัดนิทรรศการนำเสนอโปสเตอร์เกี่ยวกับนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และโครงการสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดการตีพิมพ์ประเด็นพิเศษเกี่ยวกับนวัตกรรมการวิจัยและโครงการ มีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วม 204 คน ประกอบด้วย 63 ทีม จากวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี, วิทยาลัยอาชีวศึกษาพังงา และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน การจัดการเรียนการสอนภายใต้โครงการ Science Based Technology Colleges
มีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน และการบูรณาการกับการศึกษารูปแบบสะเต็มศึกษา (STEM) เพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่นวัตกรรมและการประดิษฐ์ นักเรียนที่ศึกษาโครงการนี้จะต้องมีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี โครงการประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 5 นี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับนักเรียนในการแบ่งปันความรู้ และประสบการณ์สำหรับการศึกษาและการทำงานในอนาคต
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติฯ ครั้งที่ 5 จัดระหว่างวันที่ 17-20 ส.ค.2563 สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรม แบ่งเป็น 1. การประชุมทางวิชาการซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี หรือ Oral Presentation และ 2. การจัดนิทรรศการ โดยแบ่งออกเป็นการนำเสนอผลงาน นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และการสร้างสรรค์ผลงานของนักเรียนในรูปแบบ Poster การจัดทำวารสารวิชาการฉบับพิเศษ เพื่อตีพิมพ์บทความด้านนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยของนักเรียน และกิจกรรมการแสดงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของนักเรียนทั้ง 5 สถานศึกษา
โดยการจัดงานมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 255 คน มีนักเรียน นักศึกษาที่ส่งผลงานนำเสนอทั้งสิ้น 67 ทีม จาก 7 สถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 ผลงาน วิทยาลัยธุรกิจและเทคโนโลยีฉงชิ่ง ประเทศจีน จำนวน 2 ผลงาน วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จำนวน 20 ผลงาน วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี จำนวน 11 ผลงาน วิทยาลัยเทคนิคพังงา จำนวน 11 ผลงาน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จำนวน 13 ผลงาน วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน จำนวน 8 ผลงาน
โดยผลงานการนำเสนอนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ภาคบรรยาย สาขาวิศวกรรมศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่เครื่องอัดจารบีลูกปืนล้อ เวอร์ชั่น 2 วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ รถเข็นผจญภัย วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่อุปกรณ์ฆ่าเชื้อถาดหลุม วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) ผลงานการประกวดการนำเสนอนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ภาคบรรยาย สาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ รางวัลชนะเลิศได้แก่ น้ำมันหอมระเหยจากดอกจำปูน วิทยาลัยเทคนิคพังงา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 การพัฒนาแผ่นฟิล์มจากผงเกล็ดปลาช่อน วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ผ้ามัดย้อมนาโนสีจากย่านอวดเชือก วิทยาลัยเทคนิคพังงา