นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (Mr. Apichat Poobunjirdkul, Senior Strategist, TISCO Securities Co., Ltd) เปิดเผยว่า ภาพรวมการประกาศงบไตรมาส 2/2020 ของบริษัทจดทะเบียนไทยจำนวน 601 บริษัท จากทั้งหมด 621 บริษัท คิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 98% ของทั้งตลาดโดยรวม (นับเฉพาะตลาด SET ไม่รวมตลาด mai) มีกำไรสุทธิรวม 1.17 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ส.ค. 2563) แม้ทรุดตัวแรง -46% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) จากผลกระทบ COVID-19 แต่เริ่มฟื้นตัว 35% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) และยังเป็นไปตามคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในตลาด (Bloomberg Consensus) โดยมีสาเหตุหลักมาจากกลุ่ม ENERG และ PETRO ที่พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ และมีรายการพิเศษในกลุ่ม ICT และ CONMAT
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ในตลาดยังคงปรับแนวโน้มประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ประมาณการกำไรปีนี้ถูกปรับลงมาอยู่ที่ 58.9 บาท หรือลดลง 3.6% และกำไรปีหน้าถูกปรับลงมาอยู่ที่ 76.4 บาท หรือลดลง 4.9% ซึ่งเป็นการปรับลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ดังนั้น บล.ทิสโก้จึงมองว่า หลังจากนี้ดัชนีหุ้นไทยคงปรับตัวขึ้นได้ลำบาก ตราบใดที่ประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในตลาดยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอยู่
“สาเหตุที่ บล.ทิสโก้มองว่า หลังจากนี้ตลาดหุ้นไทยคงปรับตัวขึ้นได้ยาก เป็นเพราะหากกำไรบริษัทจดทะเบียนยังถูกปรับลดลง ระดับการประเมินมูลค่าหุ้นไทยก็จะยิ่งแพงขึ้น โดยปัจจุบันคิดเป็นค่าเฉลี่ยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Fwd. PER) ปีนี้ และปีหน้าอยู่ที่ 22.5 เท่า และ 17.4 เท่า ตามลำดับ ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่อยู่ประมาณ 15-16 เท่า ดังนั้น ผลพวงจากการปรับประมาณการกำไรตลาดลง บล.ทิสโก้จึงได้ปรับลดเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้ลงจาก 1,440 จุด เป็น 1,400 จุด และปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีหน้าลงจาก 1,580 จุด เป็น 1,535 จุด และหากเทียบกับระดับดัชนี ณ ปัจจุบัน จะคิดเป็นโอกาสการปรับขึ้น (Upside) ในปีนี้ค่อนข้างจำกัดที่ 5% และปีหน้าที่ประมาณ 15%” นายอภิชาติกล่าว
นายอภิชาติกล่าวอีกว่า นอกจากประเด็นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ลดลงแล้ว ตลาดหุ้นไทยยังมีอีกหนึ่งปัจจัยกดดันคือ การเมืองไทย ที่ส่อแววกลับมาวุ่นวายอีกครั้ง หลังมีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น ซึ่งหัวใจการชุมนุมครั้งนี้อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่คงไม่สามารถตกผลึกได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การชุมนุมมีแนวโน้มยืดเยื้อและอาจถูกยกระดับขึ้นในอนาคต โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพัฒนาการด้านการชุมนุม ที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการยกเลิกใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งนี้ ปัจจัยด้านการเมืองและผลประกอบการจดทะเบียนที่ลดลงจะกดดันตลาดหุ้นไทยให้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางแย่กว่าตลาดหุ้นโลกต่อไป (Underperform)
สอดคล้องกับข้อมูลความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยในอดีตช่วงที่มีม็อบ 3 ครั้งล่าสุด ได้แก่ ม็อบพันธมิตรฯ ม็อบนปช. และม็อบกปปส. หุ้นไทยมักจะปรับตัวลงเฉลี่ยเกือบ -3% สวนทางกับตลาดหุ้นโลกในช่วงเวลาเดียวกันที่ปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 2% โดยผลตอบแทนของดัชนีหุ้นไทยจะผันแปรไปตามระยะเวลาที่มีม็อบ
นอกจากนี้จากการศึกษาความเคลื่อนไหวราคาหุ้นแบบเจาะเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มที่ปรับขึ้นมากกว่าตลาด (Outperform) ทุกครั้งในช่วงที่มีม็อบ คือ กลุ่ม AGRI (ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย +14.2%), ETRON (+9.3%), COMM (+9.3%), HOME (+7.0%) และ FOOD (+6.6%) ขณะกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาด (Underperform) ทุกครั้งในช่วงที่ม็อบ คือ ICT (ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -14.1%), PROP (-8.2%) และ MEDIA (-7.7%)
ทั้งนี้ ท่ามกลางประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง และการชุมนุมทางการเมือง บล.ทิสโก้จึงมองว่าตลาดหุ้นไทยหลังจากนี้จะไปต่อได้ลำบาก โดยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยในระยะสั้นจะแกว่งตัวในกรอบ 1,300-1,350 จุด สำหรับสไตล์การลงทุนแบบเก็งกำไรระยะสั้น แนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนรายตัว (Selective Buy) แบบจำกัดวงเงิน ลงซื้อ-ขึ้นขาย ภายใต้ดัชนีหุ้นไทยในกรอบ 1,300-1,350 จุด โดยธีมหุ้นที่น่าสนใจในระยะสั้น คือ 1. หุ้นที่เห็นสัญญาณตลาดปรับประมาณการกำไรขึ้นในระยะสั้น ได้แก่ SENA, TRUE, และ TU 2. หุ้นที่งบ Q2 เป็นจุดต่ำสุด แนวโน้มครึ่งปีหลังฟื้นตัวต่อเนื่องและปีหน้าจะกลับมาโตกว่าช่วงก่อน COVID-19 ได้แก่ BJC, ILINK, PLANB และ WHA และ 3. หุ้นแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังยังดีต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ได้แก่ CPF, PRM, RS และ SMPC
สำหรับสไตล์การลงทุนแบบระยะกลาง-ยาว แนะนำหาจังหวะสะสมช่วงอ่อนตัว ธีมหุ้นที่น่าสนใจ 1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่มักแข็งแกร่งกว่าตลาดในช่วงการเมืองร้อน ได้แก่ หุ้นกลุ่ม COMM แนะนำ BJC, CPALL, HMPRO และ RS หุ้นกลุ่ม FOOD แนะนำ CPF, GFPT และ TVO และหุ้นกลุ่ม ETRON แนะนำ DELTA และ HANA 2. หุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ-สังคม 4 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ CK, SEAFCO และ TASCO 3. หุ้นปันผลดี ได้แก่ AP, BBL, DIF, KKP, LH, QH, SCCC, SMPC และ TVO และ 4. หุ้นรอลุ้นวัคซีน ฟื้นตัวจากฐานราคาและกำไรที่ต่ำ ได้แก่ AOT, BDMS, CENTEL, CPN, CRC และ SPA