ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า หลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม (Chief City Innovation Officer: CCIO) รุ่นที่ 3 นี้ ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมมากถึง 60 คน อาทิ กรมธนารักษ์, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.), กลุ่มสยามพิวรรธน์, บมจ.พฤกษาเรียลเอสเตท, บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เป็นต้น และแน่นอนว่าการเรียนสำหรับรุ่นนี้ต้องมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้มาตรฐานการเว้นระยะห่างแบบ New Normal ขณะที่หลักสูตรการเรียนก็ยังคงเข้มข้นอัดแน่นไปด้วยความรู้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการรังสรรค์ระบบนิเวศนวัตกรรม การพัฒนาเมืองในบริบทของพื้นที่นวัตกรรมและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ (Tech-Startups) ให้มีศักยภาพสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน รวมทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ
สำหรับหลักสูตร CCIO ในรุ่นที่ 3 นี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าจากในประเทศ และต่างประเทศมาให้ความรู้พร้อมเปิดมุมมองใหม่ๆ อาทิ
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายหัวข้อ City Business Model กับการเมืองที่เปลี่ยนไป เพื่อการพัฒนาเมืองให้มีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย มีชีวิตชีวา มีนวัตกรรม สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชนในอนาคต
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (FutureTales Lab by MQDC) บรรยายหัวข้อ รูปแบบเมืองในอนาคต ที่ต้องนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นองค์ประกอบในการพัฒนาธุรกิจทั้งด้านวิกฤตและโอกาสได้อย่างครอบคลุม เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต ที่นักบริหารต้องปรับตัว
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com บรรยายบรรยายหัวข้อ Cashless Society (world trend) นวัตกรรมการชำระเงินแห่งยุคสังคมไร้เงินสดกับสถานการณ์ เทรนด์โลก ที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มประสิทธิภาพของธุรกรรมทางธุรกิจให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากกว่าเดิม
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนัช สุขวิมลเสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในผู้บริหารที่ให้ความสนใจเข้าร่วมหลักสูตรนี้ เปิดเผยว่า หลักสูตรผู้บริหารเมืองนวัตกรรม รุ่นที่ 3 มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดความรู้ให้แก่กลุ่มผู้บริหารระดับสูง กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง จากภาครัฐ ภาคการพัฒนา ภาคการลงทุน ภาคการศึกษา ภาคการบริการโครงสร้างพื้นฐาน และภาคประชาสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถและสร้างมุมมองความเข้าใจในนวัตกรรมให้สามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองในบริบทของนวัตกรรม และได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้เข้าร่วมการอบรมที่มาจากทุกภาคส่วน