ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) หรือ LPH เปิดเผยถึง ทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้คนไข้ทั่วไปกลับมาใช้บริการตามปกติ อัตราการรักษาดีขึ้น โดยเฉพาะไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจที่เข้าฤดูฝน ทำให้มีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ประกันต่างๆ เพิ่มขึ้น ประกอบกับผู้ป่วยเงินสดมีทิศทางอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางเป็นแม่เหล็กดึงดูด จากการเปิดให้บริการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ตลอดจนธุรกิจยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนให้ผลดำเนินงานปี 2563 คาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้น 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้ราว 1.59 พันล้านบาท
ขณะที่รายได้การให้บริการของบริษัทย่อย บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (AMARC) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้กับสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งจำเป็นและยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการตรวจสุขภาพมากขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะช่วงการปลดล็อคเฟส 2 - เฟส 3 รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ และช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนทำให้ไข้เลือดออกระบาด คนไข้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กเข้ามาแอดมิท
“โดยภาพรวมปีนี้ยังคงมั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายรายได้ทั้งปี คาดจะเติบโตที่ประมาณ 10-15% แม้ในเดือนเมษายน ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่ชำระเงินสดแทบจะไม่มีการเข้ามาใช้บริการ และคนไข้ต่างประเทศหายไป จึงมองว่าปีนี้คนไข้ต่างชาติชะลอตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ทิศทางครึ่งปีหลังเริ่มปรับตัวดีขึ้น ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยที่สามารถรับมือได้อย่างดีเยี่ยม สำหรับ สัดส่วนรายได้ของ LPH แบ่งเป็น ผู้ป่วยประเภทเงินสด 60% และรายได้จากผู้ป่วยประกันสังคม 40% ซึ่งหากนับเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยที่มีโควต้าประกันสังคมอยู่กับทาง LPH ปัจจุบันมีผู้ประกันตนประมาณ 161,000 คน” ดร.อังกูร กล่าว
สำหรับ รายได้รวมในงบการเงินรวมของบริษัทฯ สำหรับงวดไตรมาส 2/2563 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563) อยู่ที่ 392.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.56 แม้รายได้จากการรักษาพยาบาลในไตรมาส 2 ลดลงเล็กน้อย จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้จำนวนผู้มาใช้บริการทั่วไปลดลง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางมารับการรักษาพยาบาลได้ลดลงอย่างเป็นสาระสำคัญ แต่รายได้จากโครงการประกันสังคมยังคงเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.85 จากการที่สำนักงานประกันสังคมปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ ปี 2563 ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม
และงวด 6 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 817.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.66 เนื่องจาก รายได้จากการรักษาพยาบาล และรายได้จากโครงการประกันสังคมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รายได้จากการให้บริการของบริษัทย่อย บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด “AMARC” สำหรับงวดไตรมาส 2 และงวด 6 เดือน ปี 2563 (สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563) มีจำนวนเท่ากับ 56.39 ล้านบาท และ 109.36 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.44 และ 16.99 ตามลำดับ โดยมีสาเหตุหลักมาจากขยายขอบเขตการให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการให้กับสินค้าเกษตร อาหารและยา กอปรกับกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น แม้อยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
นับเป็นความท้าทายอย่างมากในการบริหารงานในปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ สำหรับงวดไตรมาส 2/2563 ขาดทุนอยู่ที่ 5.11 ล้านบาท และงวด 6 เดือน ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 37.73 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 128.87 และ 29.06 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีกำไรขั้นต้นในอัตราร้อยละ 23.5 เนื่องจากการปรับลดลงของรายได้ และมีค่าใช้จ่ายรวมถึงภาษีเงินได้ที่เกิดจากรายการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น (รายการเกิดขึ้นเฉพาะเหตุการณ์) อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ราว 26 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2563 ในงบการเงินเฉพาะกิจการ
ทั้งนี้ เพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ให้การสนับสนุน บริษัทฯ จ่ายปันผลจากผลการดำเนินงานงวดครึ่งปีแรก ปี 2563 เป็นเงินสดในอัตราหุ้นละ 0.05 บาทต่อหุ้น กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record date) 28 สิงหาคม 2563 กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 27 สิงหาคม 2563 และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 9 กันยายน 2563
ดร.อังกูร กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ยังเดินหน้าตามแผน ได้แก่ การปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าและด้านหลังโรงพยาบาล อาคาร 1 และอาคาร 2 เพื่อรองรับการสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รวมทั้งการก่อสร้างห้องตรวจประกันสังคมเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับจำนวนผู้ประกันตน ซึ่งทางโรงพยาบาลฯ ได้ขอเพิ่มโควต้าอีกจำนวน 10,000 ราย รวมเป็น 170,000 รายในปีหน้า