ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปในหลายภาคส่วน ซึ่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติก็ได้รับผลกระทบโดยมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นเดียวกัน นั่นคือ ก่อนเกิดโควิด-19 ได้มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมจะมีการทยอยปรับมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองต่อลูกค้าที่ต้องการสินค้าจำนวนมากและมีคุณภาพที่สูงขึ้นซึ่งหลายสถานประกอบการมีความพร้อมในการลงทุนในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 กลับทำให้เกิดปรากฏการณ์ใน 2 ลักษณะ คือ 1.อุตสาหกรรมหลายประเภทชะลอการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มเติม เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากออเดอร์สินค้าต่างๆยังชะลอตัว ขณะที่บางอุตสาหกรรม อย่าง อุตสาหกรรมอาหารและยา กลับลงทุนในการนำหุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้แทนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและลดความเสี่ยงในด้านสุขอนามัยของบุคลากร
“โควิด-19 นำมาซึ่งวิกฤตและโอกาสในแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกันออกไป หลายธุรกิจอยากลงทุนเกี่ยวกับระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ แต่หลายธุรกิจชะลอการลงทุนไว้ก่อน แต่ไม่ว่าอย่างไร อุตสาหกรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีอัตราการเติบโตสูงอย่างแน่นอน เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเหล่านี้ในการผลิต โดยประเทศไทยต้องวางยุทธศาสตร์ว่าจะเป็นผู้ผลิต หรือผู้ใช้เทคโนโลยี เราจะอยู่จุดไหนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์นี้ และต่อให้เป็นผู้ผลิตหรือผู้ใช้ กำลังคนด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้ประเทศกำลังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้” ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าว
ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวต่อว่า สำหรับภาคการศึกษาได้รับผลกระทบในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเน้นการเรียนทฤษฎี 30% ลงมือปฏิบัติ 40% และทำกิจกรรมภายนอก 30% ซึ่งในส่วนของการลงมือปฏิบัติและทำกิจกรรมภายนอกนั้น ไม่สามารถเรียนออนไลน์หรือฝึกปฏิบัติออนไลน์ได้ เนื่องจากการเรียนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ต้องคิดต้องสร้าง ดังนั้นเพื่อให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างเหมาะสม ทางสาขาวิชาจึงได้จัดการเรียนให้สอดคล้องกับมาตราการของทางภาครัฐคือการสลับมาเรียน และการทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์อยู่เป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาของเราได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นอย่างเพียงพอ โดยทางคณะมีห้องปฏิบัติการ หน่วยพัฒนาและวิจัยด้านหุ่นยนต์ และมีบริษัทคู่ความร่วมมือที่จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่จะต้องมีการทำโปรเจคจบโดยต้องจับคู่กับบริษัทผลิตหุ่นยนต์หรือสร้างระบบต่างๆ ที่สามารถใช้งานได้จริงและต้องเรียนรู้การนำเสนองานของตนเองร่วมด้วย มหาวิทยาลัยจะปลูกฝังความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาในทุกคณะ โดยต้องมีทักษะการสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และเป็นนักนวัตกรรม
“ปัจจุบันสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมีการเปิดการเรียนการสอนเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งแม้จะยังไม่มีนักศึกษาจบไปสู่สถานประกอบการ แต่ระบบการเรียนการสอนมีการเทรน การฝึกงาน การสนับสนุนให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากเวทีการแข่งขัน การประกวดต่างๆ มีการรับโจทย์วิจัยจากภายนอกมาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ทุกคนจะมีพื้นฐานด้านการผลิตหุ่นยนต์ มีทักษะการทำงานสามารถใช้ระบบอัตโนมัติ รวมถึงคิดค้น เป็นผู้ผลิต เป็นผู้ประกอบการ นักพัฒนาสร้างหุ่นยนต์มาขาย มาให้บริการ เป็นนักวางแผนการเลือกหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ให้เหมาะสมกับโรงงาน DPU มุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรให้สามารถทำงานกับระบบอัตโนมัติได้ทั้งหมด หากใครมีความสนใจหรือชื่นชอบการผลิตหุ่นยนต์ การออกแบบ การเขียนโปรแกรม การวางแผน การปฏิบัติงานได้จริง และมีความถนัด มีทักษะการประดิษฐ์ คิดค้น ชอบการทำงานเป็นทีม สามารถเลือกเรียนในหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ มั่นใจอนาคตประเทศยังต้องการกำลังคนด้านนี้สูง” ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวในตอนท้าย