นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวระหว่างพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาต่อในระดับ ปวส. และปริญญาตรีให้กับบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์ ว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ทำข้อตกลงร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โดยจะจัดสรรดอกผลจากเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) มาสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี สาขาสัตวศาสตร์ ให้กับบุตร – หลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม จำนวน 13 ทุน ซึ่งเป็นทุนอุดหนุนให้ตลอดหลักสูตร กำหนดระยะเวลาของโครงการไว้ 3 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 – 2565 โดยเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย และปีนี้กรมได้ขยายผลสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตร - หลานสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรด้วย ตั้งแต่ระดับปวส. จนถึงปริญญาตรี เน้นสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 – 2566 แบ่งทุนการศึกษาระดับ ปวส. มีจำนวน 150 ทุน และระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) 2 ปี จำนวน 60 ทุน โดยเป็นการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรี 4 ปี กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกจำนวน 30 ทุน
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ต่อยอดจากปี 2560 ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับสถานศึกษาต่าง ๆ ดำเนินโครงการความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเกษตรกร ผู้เลี้ยงโคนม โดยเปิดโอกาสบุตร – หลานสมาชิกสหกรณ์โคนม หรือสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนม เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพเลี้ยงโคนม ได้แก่ สาขาสัตวแพทยศาสตร์และสาขาสัตวศาสตร์ และกรมฯ ได้จัดสรรดอกผลจากเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์มาสนับสนุนเป็นทุนการศึกษา เพื่อให้ลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมได้นำความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย กลับไปต่อยอดอาชีพเลี้ยงโคนมและพัฒนาฟาร์มโคนมของครอบครัว เพื่อช่วยพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนมและธุรกิจของสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีบุตร - หลานสมาชิกสหกรณ์ได้รับทุนการศึกษาแล้ว 10 คน เป็นสาขาสัตวแพทยศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 คนและสาขาสัตวศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสนและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวม 6 คน เงินทุนศึกษาตลอดหลักสูตร รวม 2.519 ล้านบาท และในปีนี้ กรมฯ ได้เพิ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เข้าร่วมในโครงการความร่วมมือ ทางการศึกษาเพื่อสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมให้กับบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์โคนม ในปีการศึกษา 2563-2565 ด้วย อีกจำนวน 13 ทุน ทุนการศึกษารวม 1.746 ล้านบาท
สำหรับวงเงินจากดอกผลของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เตรียมไว้เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์โคนมและสหกรณ์ภาคการเกษตรในเบื้องต้นขณะนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 23.187 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์ คือ ทางสถานศึกษาจะจัดสรรโควตาในการรับนิสิตนักศึกษาเข้าศึกษาต่อทั้งระดับ ปวส. และปริญญาตรี กรมส่งเสริมสหกรณ์จะสนับสนุนทุนการศึกษาให้จนจบหลักสูตร และสหกรณ์ที่สมาชิกสังกัดอยู่อาจร่วมสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นให้เพิ่มเติมนอกเหนือจากทุนการศึกษา ซึ่งเมื่อบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์ที่ขอรับทุนดังกล่าวได้เรียนจนจบการศึกษาแล้ว ขอให้กลับมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือเป็นที่ปรึกษาของสหกรณ์ ไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามข้อตกลงกับสหกรณ์ที่สังกัด
“เราอยากจะผลักดันเด็กรุ่นนี้กลับมาอยู่ในภาคการเกษตร เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ และเป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาวงการสหกรณ์ จึงเริ่มจากการสร้างบุตรหลานของสมาชิกสหกรณ์ก่อน ให้ทุนเรียนต่อเพื่อจบมาจะได้เป็น ผู้ประกอบอาชีพการเกษตร อีกสักระยะหนึ่งก็ดึงเขาเข้ามาในระบบสหกรณ์ เป้าหมายสุดท้าย คือ ต้องการอยากเห็น เด็กเหล่านี้กลับมาเป็นผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรในอนาคต ซึ่งจะทำให้องค์กรสหกรณ์ขับเคลื่อนต่อไปได้ จึงได้หารือกับผู้บริหารของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งมีสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตรอยู่ และหารือกับทางเลขาธิการคณะกรรมการ การอาชีวะศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้เรียนต่อในระดับปวส.และปริญญาตรีต่อเนื่อง ปีนี้กรมฯได้จัดสรรทุนการศึกษาไว้ 23 ล้านบาท และถ้าได้ผลดีปีหน้าจะขยายเพิ่มขึ้น และจะดึงสหกรณ์เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับลูกหลานสมาชิกสหกรณ์ด้วยในปีต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว
ปัจจุบันมีสหกรณ์ในภาคการเกษตร จำนวน 3,486 แห่ง สมาชิกกว่า 6.4 ล้านครอบครัว ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ทั้งปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำฟาร์มโคนมและทำประมง ซึ่งอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของคนไทย แรงงานในภาคการเกษตรขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ขณะเดียวกันสหกรณ์ภาคการเกษตรยังคงขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาส่งเสริมสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นคงในอาชีพการทำเกษตร ด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นบุตรหลานสมาชิกสหกรณ์ ให้มีความรู้และทักษะที่พร้อมกลับมาสานต่ออาชีพการทำเกษตรของครอบครัว รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสหกรณ์และชุมชน ให้เจริญก้าวหน้าและเติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ (MOU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในวันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม 2563 ณ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพฯ มีนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศาสตราจารย์ ดร.สุวัจน์ ธัญรส อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมในการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว