นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน KBSPIF เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลครบุรี หรือ KBSPIF ขนาด 2,800 ลบ. ได้นำหน่วยลงทุนเข้าทำการซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 โดยใช้ชื่อย่อ 'KBSPIF’ ในการซื้อขายบนกระดานหลักทรัพย์ฯ และมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยกองทุน KBSPIF มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ได้ปรับปรุงแล้ว คาดว่ากองทุนฯ มีการปันส่วนแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยอย่างสม่ำเสมอ โดยปีแรก มีประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.95 (จากเงินปันผลร้อยละ 6.24 และจากเงินลดทุนร้อยละ 2.71) และมีประมาณการอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal Rate of Return) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.00*
ทั้งนี้ กองทุน KBSPIF จะนำเงินที่ระดมทุนได้ มาเข้าลงทุนในสิทธิประโยชน์จากการประกอบกิจการไฟฟ้า ของ KPP ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของกลุ่มน้ำตาลครบุรี ซึ่งกองทุนฯ จะมีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราร้อยละ 62 ตามสัญญาประเภท Firm กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 22 เมกะวัตต์ ที่คิดอัตราค่าไฟฟ้า 2.0577 บาทต่อกิโลวัตต์ และกลุ่มน้ำตาลครบุรี จำนวน 3.5 เมกะวัตต์ ที่คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับ 2.90 บาทต่อกิโลวัตต์ เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปี ซึ่งจะทำให้มีความมั่นคงในกระแสเงินสด และรายได้ให้กับกองทุนฯ
นายรวินทร์ บุญญานุสาสน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า กองทุน KBSPIF มีจุดเด่นด้านโครงสร้างการแบ่งกระแสรายได้เข้ากองทุนรวมฯ มีความผันผวนต่ำจากสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าระยะยาวให้แก่ กฟผ. และ KBS อีกทั้ง กองทุน KBSPIF ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายการดำเนินงานโรงไฟฟ้า ได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าซ่อมแซมและการบำรุงเครื่องจักรของโรงไฟฟ้า ส่งผลให้ กองทุน KBSPIF มีกระแสรายได้ที่มั่นคง ประกอบกับกองทุนฯ ยังปิดความเสี่ยงด้านการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการเข้าทำสัญญากับ KBS ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบมาป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าตลอดอายุสัญญากองทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่กองทุนฯ เข้าลงทุน จะมีวัตถุดิบที่เพียงพอสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอให้แก่นักลงทุนได้ ทำให้ธนาคารได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลามจากนักลงทุนเมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างครบวงจร กล่าวว่า กลุ่มน้ำตาลครบุรี มีความเชื่อมั่นศักยภาพของสินทรัพย์โรงไฟฟ้าของ KPP ที่กองทุน KBSPIF เข้าลงทุน และมั่นใจว่า โรงไฟฟ้าของ KPP จะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนตลอดอายุสัญญา พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ขนาด 18 เมกะวัตต์ และมีแนวคิดจะนำโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งใหม่เพื่อเข้าระดมทุนเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย
หมายเหตุ *อัตราผลตอบแทนภายในดังกล่าวคำนวณจากสมมติฐานการจัดตั้งกองทุนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 โดยระยะเวลาการลงทุนเท่ากับระยะเวลาภายใต้สัญญาการโอนผลประโยชน์ฯ ซึ่งใช้ประมาณการการรับรู้รายได้ของผู้ประเมินรายต่ำ (บริษัท ดิสคัฟเวอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด) และใช้สมมติฐานค่าใช้จ่ายของกองทุนอ้างอิงจากสมมุติฐานของบริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด โดยประมาณการค่าใช้จ่ายของกองทุนต่อปีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุน และคำนวณจากมูลค่าระดมทุนสูงสุดที่ 2,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ประมาณการอัตราผลตอบแทนภายในดังกล่าวขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางธุรกิจ ทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนอื่นๆ ซึ่งอาจไม่อยู่ในการควบคุมของทางกองทุนและบริษัทจัดการ อัตราผลตอบแทนภายในจริงจึงอาจมีความแตกต่างจากประมาณการนี้ ทางกองทุนและบริษัทจัดการ ไม่รับประกันอัตราผลตอบแทนภายใน และตัวเลขประมาณการทั้งสิ้น ซึ่งนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลความเสี่ยงเกี่ยวกับการลงทุนในหนังสือชี้ชวน
คำเตือน
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุนผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลดังกล่าวจากหนังสือชี้ชวนซึ่งสามารถดาวน์โหลด (Download) ได้ที่ www.kbspif.com www.sec.or.th และ www.set.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารกรุงไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-111-1111หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย หมายเลขโทรศัพท์ 02-686-6100ความเสี่ยงที่สำคัญของกองทุน เช่น ความเสี่ยงจากการขาดแคลนเชื้อเพลิง ความเสี่ยงจากเครื่องจักรเสื่อมสภาพ ความเสี่ยงด้านราคาและสภาพคล่องในตลาดรอง เป็นต้น