ล่าสุดจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้จากล้งรับซื้อผลไม้ หน่วยงานภาครัฐ และเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2563 พบว่า ทุเรียน มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย และทยอยออกสู่ตลาดหลายรุ่น โดยจะออกสู่ตลาดมาก (Peak) ในเดือนกันยายน จากปกติที่ออกมากในเดือนสิงหาคมทุกปี เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับเกษตรกรที่มีศักยภาพบางราย ได้วางแผนให้ผลผลิตออกตามความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันสำคัญของจีน เช่น เทศกาลวันไหว้พระจันทร์ และวันชาติของจีน ซึ่งตรงกับช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ที่มีวันหยุดยาว จะขายได้ราคาดี ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนเลื่อนการกระจุกตัวออกไป
มังคุด มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศแล้งทำให้การติดดอกออกผลลดลง โดยออกสู่ตลาดไปแล้วประมาณร้อยละ 30 และทยอยออกสู่ตลาดหลายรุ่นเช่นกัน ขณะนี้ผลผลิตรุ่นที่ 2 กำลังออกสู่ตลาดในเดือนสิงหาคม ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลมังคุดมีความสมบูรณ์สะสมอาหารได้เต็มที่ ประกอบกับเกษตรกรบำรุงรักษาอย่างดี ทำให้ผลผลิตประมาณร้อยละ 70 มีขนาดใหญ่ ผิวสวย ส่วนผิวลาย ผลดำ และขนาดจิ๋วมีประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ผ่านมา มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้มังคุดเป็นเนื้อแก้ว ยางไหล และมีหนอนผีเสื้อเจาะผลผลิต คุณภาพไม่เป็นที่ต้องการของตลาด
เงาะโรงเรียน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผลผลิตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณร้อยละ 60 โดยผลผลิต รุ่นที่ 2 ออกสู่ตลาดประมาณช่วงกลางเดือนสิงหาคม มีคุณภาพดีกว่ารุ่นแรก ผิวสวย และผลมีขนาดใหญ่ แต่ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกมากในพื้นที่ ทำให้ผลเงาะร่วงจากต้น และแตก ส่วนลองกอง ขณะนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากประมาณปลายเดือนกันยายน - ตุลาคม 2563
ด้านการตลาด ปีนี้ราคาของผลไม้ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยทุเรียนเกรดส่งออก (เกรด AB) ราคากิโลกรัมละ 130 – 140 บาท ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน มังคุดผิวมันใหญ่ (เบอร์ 1 – 3) ราคากิโลกรัมละ 80 – 100 บาท ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนมังคุดผิวลาย (ลายมังกร) ราคากิโลกรัมละ 50 – 55 บาท เงาะโรงเรียนเกรดส่งออก ราคากิโลกรัมละ 37 บาท โดยตลาดสำคัญ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง ส่วนราคาที่ขายตลาดในประเทศ ราคากิโลกรัมละ 32 – 35 บาท
รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันแนวโน้มการปลูกทุเรียนมีมากขึ้น จากการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปาล์มน้ำมัน ยางพารา เงาะ และลองกอง โดยการปลูกแซมในสวนเดิมรวมถึงขยายเนื้อที่ปลูกใหม่ ทำให้ภาคใต้เริ่มมีผลผลิตมังคุด เงาะ และลองกองลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนสิงหาคม มีปริมาณผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ล้งทุเรียนปิดรับซื้อมากกว่า 100 ราย โดยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ได้รับอิทธิพลจากลมพายุซินลากู ทำให้ผลผลิตทุเรียนของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชุมพรที่จะเตรียมเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน 2563 ได้รับความเสียหายเบื้องต้นกว่า 300 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาแรงงานต่างด้าวย้ายงานหรือหนีนายจ้างไปทำงานอื่นหลังจากได้รับบัตรทำงานถูกต้องตามกฎหมายจากนายจ้าง จึงทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้างต้องจ้างแรงงานใหม่ และมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาครัฐควรพิจารณาปรับกฎระเบียบสัญญาการทำงานระหว่างนายจ้างกับแรงงานต่างด้าวเป็นระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น หรือให้มีระยะเวลาทำงานของแรงงานต่างด้าวที่เหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น