พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ด้วยความรักของคุณพ่อคุณแม่ที่จะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกคือ หนูน้อยคุณภาพ “การสร้างลูก” จึงเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความเอาใจใส่เป็นพิเศษ หากเปรียบการสร้างลูกเป็นการต่อจิ๊กซอว์แผ่นใหญ่นับพันชิ้น การหาชิ้นหัวมุมเจอและเริ่มต่ออย่างถูกต้องจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การต่อชิ้นต่อไปที่ง่ายขึ้น เช่นเดียวกับการที่คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความต้องการของลูกน้อยวัยแรกเกิดได้เร็ว ก็จะสามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการ สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความรู้สึกผูกพันและเคารพเชื่อมั่นระหว่างกันในอนาคต แต่บางครั้งในระหว่างที่ต่อจิ๊กซอว์ คุณพ่อคุณแม่อาจเกิดความสงสัย ลังเล และไม่แน่ใจว่าชิ้นที่กำลังจะวางลงไปนั้นถูกต้องหรือไม่ และยิ่งสับสนเมื่อเห็นชิ้นข้างๆ ที่คล้ายกัน ซึ่งอาจไม่ต่างอะไรกับการที่คุณพ่อคุณแม่กังวลว่าลูกวัย 10 เดือนยังเดินไม่ได้เหมือนลูกของเพื่อน หรือลูกวัยขวบครึ่งยังพูดไม่เป็นประโยคเหมือนเด็กคนอื่น แต่ลืมสังเกตไปว่าลูก 10 เดือนคนนี้ของคุณพ่อคุณแม่เกาะเดินแล้วแทบไม่ล้มเลย หรือลูกวัยขวบครึ่งคนนี้สนใจและทำตามคำสั่งได้ดี สิ่งเหล่านี้เกิดจากความแตกต่างอย่างเป็นปกติของเด็กแต่ละคน
ในทางกลับกัน บางครั้งคุณพ่อคุณแม่บางครอบครัวก็ต่อจิ๊กซอว์ด้วยความมั่นใจ วางตัวแล้วตัวเล่าโดยไม่รู้ว่าวางผิด กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ยากที่จะแก้ไข เช่น เมื่อลูกโตขึ้นจนอยู่ในวัยที่ต้องเรียนรู้การรอคอย แต่คุณพ่อคุณแม่ยังตอบสนองความต้องการอย่างทันทีทันใดราวกับยังอยู่ในวัยทารก อาจส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจและหุนหันพลันแล่นได้ ฉะนั้นการดึงศักยภาพความเป็นคุณพ่อคุณแม่ในการเลี้ยงลูกออกมาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้เลี้ยงลูกถูกทาง พัฒนาลูกได้ครบทุกมิติ ดังนั้นการดูแลลูกน้อยอย่างถูกต้องในแต่ละช่วงวัย ย่อมช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรละเลยปัญหาสำคัญของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย และเข้าพบแพทย์พัฒนาการเด็กเพื่อเพิ่มความมั่นใจการเลี้ยงลูกตามช่วงอายุดังนี้
ในวัย 2 เดือน อาจประสบปัญหา เด็กร้องไห้ปลอบเท่าไรก็ไม่หยุด หรือไม่ทราบว่าเด็กร้องไห้ทำไม ไม่สามารถตอบสนองได้ตรงกับความต้องการของเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจกังวลว่าการที่เด็กร้องไห้มากๆ จะส่งผลเสียทำให้กลายเป็นคนเจ้าอารมณ์ คุณแม่ไม่สามารถจัดสรรเวลาดูแลตัวเองได้ และบางครั้งมีภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว พอรู้อีกทีอาจทำให้ความสัมพันธ์กับเด็ก ตลอดจนกับคุณพ่อมีปัญหา ปัญหาการเลี้ยงดูเด็กเมื่อคุณแม่ต้องกลับไปทำงาน คุณแม่อาจกังวลว่าสามารถกลับไปทำงานได้หรือไม่ และควรเตรียมความพร้อมให้ลูกอย่างไร การเข้าพบแพทย์พัฒนาการเด็กในวัยนี้จะทำให้พ่อแม่เข้าใจลูกและตอบสนองได้ตรงกับตัวตนของเด็กได้มากขึ้น มารดาเข้าใจสถานการณ์ในครอบครัวและสามารถพบทางออกร่วมกัน รวมทั้งจะช่วยให้คำแนะนำและคลายปมปัญหา ตลอดจนชี้แนะให้คุณแม่หาวิธีที่เหมาะสมไปปรับใช้กับครอบครัว ในวัย 4 เดือน อาจประสบปัญหา เด็กตื่นบ่อยตอนกลางคืน ลูกยังไม่พลิกคว่ำหรือยังไม่ส่งเสียงอ้อแอ้มากนัก ลูกไม่ติดพี่เลี้ยง บางครอบครัวเปลี่ยนพี่เลี้ยงมาหลายคน แต่เด็กก็ไม่ยอมให้พี่เลี้ยงดูแล ทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่มีเวลาส่วนตัวและเป็นกังวลเมื่อต้องออกไปทำงาน การพบแพทย์พัฒนาการเด็กจะช่วยให้สามารถฝึกเด็ก ให้นอนหลับได้ยาวขึ้นในตอนกลางคืน และช่วยครอบครัวหาตารางการนอนที่เหมาะสม แพทย์จะช่วยตอบได้ว่าเด็กมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่ รวมทั้งควรส่งเสริมพัฒนาการในด้านใด นอกจากนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทราบถึงวิธีที่จะทำให้เด็กอยู่กับพี่เลี้ยงได้อย่างมีความสุข
ในช่วงวัย 6 เดือน การฝึกเด็กทานอาหารแบบ Baby Led Weaning (BLW) หยิบอาหารทานเองดีหรือไม่ แล้ววัยนี้ควรให้ทานอะไรดี ทานมากแค่ไหน เด็กยังนั่งไม่ได้ หรือเรียกแล้วไม่ค่อยหันมาสนใจ การเล่นที่เหมาะสมกับเด็ก เด็กร้องไห้งอแงเยอะและคาดเดาอารมณ์ได้ยาก พ่อแม่ไม่สามารถจัดการกับเสียงร้องของเด็กได้ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจในการดูแลหรือทำให้ความสัมพันธ์กับเด็กเริ่มมีปัญหา การพบแพทย์พัฒนาการเด็กจะช่วยปรับการกินให้เหมาะสม พร้อมกับช่วยสาธิตและแนะนำเทคนิควิธีการเล่น รวมทั้งของเล่นที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละวัย เพื่อหาแนวทางการตอบสนองกับเด็กได้อย่างถูกต้อง
ในช่วงวัย 9 เดือน อาจประสบปัญหาเด็กน้ำหนักขึ้นน้อย และยังไม่หลับยาวตลอดคืน เด็กยังไม่คลาน กลัวคนแปลกหน้ามาก ร้องไห้เสียใจเมื่อมีคนในบ้านออกไปข้างนอก คุณพ่อคุณแม่เริ่มเหนื่อยกับการอุ้มกล่อม แพทย์จะช่วยชี้แนะวิธีการฝึกเด็กให้หลับได้ด้วยตนเอง หลับได้ยาวมากขึ้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการ เลิกนมมื้อดึกก่อนอายุ 1 ขวบ และพร้อมช่วยตอบคำถามในเรื่องพัฒนาการและชี้แนะแนวทางการดูแลเด็กที่มีภาวะความกังวลต่อการพลัดพราก (Separation Anxiety) และภาวะกลัวคนแปลกหน้า (Stranger Anxiety) ซึ่งจะส่งเสริมให้เด็กควบคุมอารมณ์ตนเองได้อย่างมั่นคงในอนาคต ในช่วงวัย 12 เดือน อาจประสบปัญหา เด็กยังไม่เรียกพ่อหรือแม่ เดินไม่ได้ ไม่บ๊ายบายตามที่บอก ทำให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าเป็นเด็กพัฒนาการช้าหรือไม่ เด็กร้องกรี๊ดเวลาไม่พอใจหรือต้องการสิ่งใด เด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น โยนของ กัดคนอื่น เด็กไม่ยอมนั่งเก้าอี้สูง คาร์ซีท และไม่ยอมนอน ทำให้เข้านอนดึก ซึ่งการพบแพทย์จะช่วยตอบได้ว่าเด็กมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่ ทั้งนี้แพทย์พัฒนาการเด็กช่วยชี้แนะวิธีการเลี้ยงเด็กให้สามารถพูดบอกความต้องการและบอกอารมณ์ของตนเองได้ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่จัดการกับปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้อย่างเหมาะสม
ความกังวลใจและคำถามของคุณพ่อคุณแม่ในการเลี้ยงดูเจ้าตัวเล็กนั้นมีมากมาย คลินิกพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้จัดโครงการ My Parents, My Heroes ปลุกพลังพ่อแม่ ไขกุญแจสู่ศักยภาพพัฒนาการลูกน้อย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่พร้อมลูกน้อยในวัย 2, 4, 6, 9 และ 12 เดือน กลุ่มละไม่เกิน 3 ครอบครัว มาร่วมกันเริ่มต้นต่อจิ๊กซอว์ชิ้นแรกและชิ้นต่อๆ ไปอย่างถูกต้อง เพื่อดึงศักยภาพความเป็นพ่อแม่ในตัวเอง โดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านพัฒนาการเด็ก ให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกับรอยยิ้มของคุณพ่อคุณแม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกพัฒนาการเด็ก ศูนย์กุมารเวช ชั้น 4 โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร 02-310-3006 02-310-1006