เมื่อวันที่ 20 - 24 กรกฎาคม 2563 สศก. โดย ศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดมากที่สุด จำนวน 280,390 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63 ของพื้นที่ระบาดทั้งประเทศ โดยอำเภอ ที่มีพื้นที่ระบาดมากที่สุด 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเสิงสาง ครบุรี และหนองบุญมาก
ขณะนี้ หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ทำลายมันสำปะหลังทีเป็นโรคใบด่างไปแล้ว จำนวน 38,135 ไร่ ทั้งนี้ คณะทำงานบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลังระดับอำเภอ กำลังเร่งดำเนินการทำลายในส่วนที่เหลือ สำหรับเงินชดเชยที่จะจ่ายให้แก่เกษตรกรนั้น สำนักงบประมาณกำลังพิจารณาอนุมัติ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรหยุดพักการปลูกมันสำปะหลังหลังจากการทำลายไปแล้ว สัก 3 - 4 เดือน หรืออาจปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเน้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญและให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเกษตรกรสามารถสังเกตอาการของโรคใบด่างฯ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค จะมีใบด่างเหลือง ใบลดรูป และเสียรูปทรง ลำต้นแคระแกร็น และไม่มีการเจริญเติบโต หรือมีการเจริญเติบโตน้อย โดยหากเกษตรกรพบหรือสงสัยว่ามันสำปะหลังที่ปลูกเป็นโรคใบด่างฯ ให้รีบติดต่อผู้นำชุมชน (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) หรือนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล เพื่อวินิจฉัยโรค และหากพบเป็นโรคใบด่างฯ เจ้าหน้าที่จะชี้แจงขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการฯ และการเตรียมหลักฐานประกอบการขอรับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการต่อไป
ทั้งนี้ สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการเขตเศรษฐกิจระดับภาคและการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจสินค้าเกษตร เพื่อเสนอทางเลือกการผลิตพืชหรือการดำเนินกิจกรรมที่เหมาะสมตามเขตความเหมาะสมพื้นที่ ทั้งระดับภาคและระดับจังหวัด ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้นำไปใช้ประโยชน์เพื่อแนะนำทางเลือกให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ สศก. จะมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้โครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป