นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า องุ่นเป็นไม้ผลทางเลือกที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกเป็นอาชีพ เพราะให้ผลตอบแทนสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ทดแทนพืชที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ข้าวโพด เป็นต้น และยังสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรได้อีกด้วย แต่การปลูกองุ่นในระบบเดิมจำเป็นต้องใช้แรงงานมากและไม่เหมาะสมกับเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากทรงต้น และวิธีการตัดแต่งยุ่งยาก โดยวิธีการสำคัญที่พัฒนาขึ้นใหม่จากผลการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้แก่ รูปแบบการจัดทรงต้น และระยะปลูก 3 แบบ คือ ทรงต้นแบบตัว H ระยะปลูก 6x3 เมตร แบบตัว T ระยะปลูก 6x3 เมตร และแบบตัว T ระยะปลูก 6x1.5 เมตร ซึ่งสามารถให้ผลผลิต 70-100 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยและพัฒนาต่อยอดรูปแบบค้างองุ่นแบบใหม่ เพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่ และสะดวกต่อการปฏิบัติดูแลรักษายิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้รูปแบบค้าง
มีความหลากหลาย สามารถปรับใช้ให้เหมาะสมสภาพพื้นที่และวัตถุประสงค์ของการใช้งานที่แตกต่างกันได้ โดยมีทรงต้นรูปแบบใหม่ 6 แบบ คือ ทรงต้นสูงแบบตัว T ระยะปลูก 1.2 x 8 เมตร ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่โรงเรือน ทรงต้นแนวตั้งที่สามารถเพิ่มความสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา ซึ่งมี 5 แบบ คือ ทรงต้นเตี้ยแบบแนวรั้ว แบบตัว Y สูง แบบตัว Y ต่ำ แบบตัว Y ดัดแปลงสูง และแบบตัว Y ดัดแปลงต่ำ โดยทั้งหมดใช้ระยะปลูก 1.5 x 8 เมตร และได้มีการพัฒนารูปแบบโรงเรือนให้เหมาะสมกับทรงต้นและค้างรูปแบบใหม่ๆ
รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทรงต้นที่เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ในปัจจุบัน คือ ทรงต้นแบบตัว H ระยะปลูก 6x3 เมตร แบบตัว T ระยะปลูก 6x3 เมตร และแบบตัว T ระยะปลูก 1.2 x 8 เมตร สำหรับทรงต้นแนวตั้งแบบตัว Y เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่เหมาะกับเกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีทรงต้นที่สะดวกต่อการปฏิบัติดูแลรักษา
ในการผลิตองุ่นแบบประณีต ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง ภายใต้ระบบการปลูกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้ต้นทุนการผลิตในการทำโรงเรือนและค้างต่ำกว่าโรงเรือนขนาดมาตรฐานทั่วไป อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบที่มีต่อผลผลิตองุ่นจากความแปรปรวนของสภาพอากาศได้อีกด้วย
สำหรับการตัดแต่งกิ่งองุ่นให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงนั้นเป็นการนำหลักการตัดแต่งกิ่งแบบโครงการหลวงมาปรับใช้ คือ ให้ตัดแต่งกิ่งแบบ 1 กิ่ง ตัดแต่ง 2 ครั้งต่อปี โดยตัดแต่งครั้งที่ 1 แบบยาว (Cane pruning) และดัดโค้งกิ่งหลังตัดแต่ง เพื่อเพิ่มปริมาณและความสม่ำเสมอของตาที่แตก ทำให้ผลผลิตต่อต้นเพิ่มมากขึ้นถึง 109 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง จากการตัดแต่งกิ่งแบบปกติที่ให้ผลผลิต 50 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง โดยให้ทำในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงเก็บเกี่ยวในฤดูหนาวถึงฤดูแล้ง และตัดแต่งกิ่งเดิม
เป็นครั้งที่ 2 โดยตัดแบบสั้น (Spur pruning) ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพื่อสร้างกิ่งใหม่ที่สมบูรณ์และให้ผลผลิตนอกฤดู ระบบการตัดแต่งกิ่งแบบนี้ทำให้ต้นองุ่นให้ผลผลิตสูงมาก สม่ำเสมอ และยาวนาน เพราะมีระบบการสร้างกิ่งทดแทน ทำให้ต้นองุ่นมีความแข็งและสมบูรณ์อยู่เสมอ และสามารถควบคุมให้กิ่งอยู่บนพื้นที่ค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ