นายสุรัตน์ชัย อินทร์วิเศษ ผู้อำนวยการสำนัก สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลประชากรช้างไทยในปี 2562 พบว่า ช้างเลี้ยงในประเทศไทย จำนวนกว่าร้อยละ 85 ทำงานในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ในขณะที่ร้อยละ 15 ทำงานเกี่ยวข้องกับชักลากไม้ ดังนั้น ส่วนอนุรักษ์ช้างลำปาง ส.คช. ได้ออกสำรวจข้อมูลช้างที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด - 19 ต่างพบปัญหา เช่น เจ้าของช้างและควาญช้างขาดรายได้ ทำให้ไม่สามารถดูแลช้างได้อย่างเต็มที่, การอพยพกลับถิ่นฐานทำให้เกิดการกระจายตัวของช้าง และการออกให้บริการด้านสุขภาพยากลำบากมากขึ้น และการขาดแคลนอาหารช้าง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของช้าง เป็นต้น กอปรกับในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
ผอส.คช. กล่าวต่อไปอีกว่า ส.คช. ในฐานะหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยเหลือช้างที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด - 19 ได้พยายามหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสามารถบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากปัญหามีความสลับซับซ้อนและมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่อาจครอบคลุมในทุกประเด็นและมิติได้ จากปัญหาดังกล่าวเป็นโอกาสดีในการรวบรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาร่วมจัดการประชุมช้างแห่งชาติ 2563 ในหัวข้อ “ก้าวใหม่ช้างไทยหลังโควิด – 19” เพื่อแสดงความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ช้างเลี้ยงของประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปสู่ก้าวใหม่ที่ยั่งยืนในอนาคต
สำหรับการจัดประชุมฯ ครั้งนี้ ในวันที่ 20 -21 สิงหาคม 2563 ส.คช. ได้ดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยลดจำนวนคนเข้าร่วมงาน และเน้นการจัดประชุมในรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม ZOOM สำหรับวันที่ 22 – 23 สิงหาคม 2563 เป็นกิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของชาวปกากญอต่อไป