บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) ร่วมบรรยายให้ความรู้วิธีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนเทคโนโลยี นวัตกรรม และกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งเป็น Know-how สำคัญของ ACE เพื่อให้ความรู้แก่เครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคอีสาน ในโครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ครั้งที่ 5 จัดโดยศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2562 ณ ห้องแก่นนครา 3 ชั้น 2 โรงแรมวีวิช ขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีสื่อมวลชนในพื้นที่ จ.อุดรธานี หนองคาย และกาฬสินธุ์ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 60 คน
ทั้งนี้ ACE ชูจุดเด่นของโมเดล “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน MSW ขอนแก่น” ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของไทยและในอาเซียน ตัวโรงไฟฟ้าได้รับการออกแบบเป็นระบบปิดที่ใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากขยะแบบเผาตรง (Direct Incineration) สามารถเผาขยะที่มีความชื้นสูงถึง 85% ภายใต้อุณหภูมิ 850-1,050 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจน Know-how ในการบริหารจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าอย่างถูกวิธีที่ ACE คิดค้นวิจัยและพัฒนามากกว่า 10 ปี ทำให้ปลอดกลิ่น ปลอดฝุ่น ปลอดมลพิษ และปลอดน้ำเสีย (Zero Discharge) (น้ำเสียถูกบำบัดในระบบและไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกนอกโครงการ) และมีการตรวจวัดได้ด้วยระบบ Continuous Emission Monitoring System (CEMS) ดังนั้น “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน MSW ขอนแก่น” จึงเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ "ปลอดภัย" และมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมอย่างแท้จริง ได้มาตรฐานสากลทั้ง ISO 9001 (ระบบมาตรฐานการผลิต), ISO 14001 (ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม) และ OHSAS 1801 (ระบบการจัดการด้านชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน) สามารถช่วยลดปริมาณขยะชุมชนจากเทศบาลเมืองขอนแก่นและพื้นที่โดยรอบ มาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 400 ตันต่อวัน
สำหรับโครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ครั้งที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความใจในข้อมูลเบื้องลึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะและการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 21.4 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ อีกทั้งเพื่อปลูกจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีด้านการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงด้านการใช้พลังงานสะอาด โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้วยการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น ร่วมกัน Create Content อย่างสร้างสรรค์และได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะสู่สาธารณะชน