นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ดำเนินการจัดการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เน้นการสร้างและส่งเสริมการศึกษาวิชาชีพ โดยสนับสนุนให้ วิทยาลัยในสังกัด ร่วมมือกับสถานประกอบการ จัดการศึกษาด้านวิชาชีพให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งด้านความรู้ ทักษะฝีมือ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ซึ่ง วิทยาลัยพณิชยการบางนา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับสถานประกอบการ ทั้ง 15 แห่ง ถือได้ว่าเป็นการบริหารจัดการอาชีวศึกษาในรูปแบบทวิภาคีที่สร้างความเข้มแข็ง ให้กับการอาชีวศึกษา พร้อมที่จะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกยุคศตวรรษที่ 21 โดย สอศ. จะได้รับความร่วมมือจากครูฝึกในสถานประกอบการ ในการถ่ายทอดวิชาชีพ ทักษะความชำนาญให้แก่ผู้เรียน อาชีวศึกษาระบบทวิภาคี อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิฐาน รองรับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
ด้านนายวรรณยุทธ จิตรสมุทร ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการบางนา กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยพณิชยการบางนา ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสถานประกอบการ จำนวน 15 แห่ง ได้แก่ 1. บริษัท บีทีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท วัตสัน (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท ฟู้ด เอ็กไซท์ จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด 5. สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย 6. บริษัท จีทีแอล (ประเทศไทย) จำกัด 7. สำนักงานบางกอกตรวจสอบ 8. บริษัท เจแอนด์เจ คอนซัลแท้นส์ กรุ๊ป จำกัด 9. ธนาคารออมสิน 10. บริษัท กรีนเทคโนโลยีเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 11. บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด 12.บริษัท เอ็กซ์โปซิชั่น เทคโนโลยี จำกัด 13. บริษัท ไดร์ฟ ดี มีเดีย จำกัด 14. บริษัท เอ็กซ์โปลิ้งค์ โกลบอล เน็ทเวิร์ค จำกัด และ15. ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมล็ดข้าวเพ็ทช้อป ซึ่งจะเข้าร่วมจัดการศึกษารูปแบบอาชีวศึกษา ระบบทวิภาคีกับแผนกวิชา จำนวน 11 แผนก ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานประกอบการ และวิทยาลัยพณิชยการบางนา เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างชัดเจนต่อเนื่อง อันจะเกิดประโยชน์ต่อการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีต่อไป
ส่วนผู้แทนของ สอศ. ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้คือ นางคนึงลักขณ์ แสงประเสริฐ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ ได้กล่าวปิดท้ายภายหลังพิธีลงนามว่า “การจัดการอาชีวศึกษา ต้องก้าวให้ทันโลกและเทคโนโลยี ที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ลำพังการจัดการศึกษาของภาครัฐ ไม่สามารถที่จะหาวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่ทันสมัยได้ เนื่องจากมีราคาสูงมาก และมีความรวดเร็วในการพัฒนา จึงต้องร่วมมือกับสถานประกอบการ ที่ได้มาตรฐานจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกประสบการณ์กับอุปกรณ์ที่ทันสมัย และรับความรู้ใหม่ๆ จากครูฝึกทำให้มีความพร้อมในการทำงานหลังเรียนจบ”
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ. 27 สิงหาคม 2563