ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมา ต.ทับมา อ.เมือง จ.ระยอง โดยมีนายปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และผู้บริหารของ อีสท์ วอเตอร์ ให้การต้อนรับ
โครงการนี้เป็นโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำสำรองอย่างเป็นระบบด้วยการสูบผันน้ำจากแม่น้ำระยองและคลองทับมา เข้าในสระสำรองที่มีขนาดความจุประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดระยองช่วงฤดูฝน และเป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อรองรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนในช่วงฤดูแล้ง
นายจิรายุทธ ได้รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมา โดยสรุปว่า โครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมาเป็นการพัฒนาบ่อดินเดิมและมีการขุดสระเพิ่มเติมเพื่อเป็นสระเก็บน้ำความจุประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการสูบผันน้ำจากแม่น้ำระยองและคลองทับมามาสู่สระสำรองน้ำดิบนี้ ซึ่งสามารถบริหารจัดการน้ำมาใช้ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 32-47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากจะเป็นการเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนของอีสท์ วอเตอร์แล้ว ยังรองรับการขยายตัวทั้งภาคอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง คาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเริ่มสูบผันน้ำได้ในช่วงปลายปี 2563 นี้
โครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมาจะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีสถานีสูบผันน้ำอยู่ที่แม่น้ำระยองและคลองทับมา ซึ่งจะมีอัตราการสูบเฉลี่ย 250,000 - 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่จังหวัดระยองได้ประมาณ 32 - 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในตัวเมืองระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากสระเก็บน้ำดิบทับมาจะทำหน้าที่เป็นแก้มลิงเพื่อรับน้ำท่วมหลากในฤดูฝน อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ตัวเมืองระยองอีกด้วย คุณจิรายุทธกล่าวเพิ่มเติม
ดร.ทรงศักดิ์ ได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในปี 2563 ซึ่งการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาสระเก็บน้ำดิบทับมา เป็นโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำสำรองอย่างเป็นระบบที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ โดยเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำเพื่อเสริมเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกและพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจให้เกิดความมั่นคงและเพียงพอมีเสถียรภาพทั้งอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงการท่องเที่ยวที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป