รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2563

ศุกร์ ๒๘ สิงหาคม ๒๐๒๐ ๑๔:๔๖
เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 แม้ว่าจะยังคงชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น”

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจ การคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2563 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2563 แม้ว่าจะยังคงชะลอตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการผ่อนคลายให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 31.4 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -5.8 สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริงกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 42.6 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงชะลอตัว

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดการก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัว ร้อยละ 1.3 ต่อปี สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.9 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -15.4 อย่างไรก็ดีปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ -25.8 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่า การส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.8 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -11.4 จากการขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มสินค้า 1) สินค้าอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และเครื่องโทรสาร เป็นต้น และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบ ไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และโซลาร์เซลล์? เป็นต้น 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น และ 4) สินค้าเก็งกำไรและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และยานยนต์ยังคงชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 17.8 ต่อปี เช่นเดียวกับ การส่งออกไปญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน 9 ประเทศ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -17.5 -16.0 และ -19.9 ต่อปีตามลำดับ สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากประเทศคู่ค้าได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลง จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -14.7 โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 82.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมโรคระบาดของภาครัฐ ทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินการธุรกิจได้มากขึ้น สำหรับภาคเกษตร ที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นผลผลิตในหมวดไม้ผล อาทิ ทุเรียน มังคุด และลำไย สอดคล้องกับผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะไก่เนื้อและไข่ไก่ เป็นต้น ในขณะที่สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ที่มีการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องเป็นที่ 4 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ ร้อยละ -1.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 45.8 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 274.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version