ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนการดำเนินงานด้านภูมิอากาศจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การนำข้อมูลทางด้านสภาพภูมิอากาศมาประยุกต์ใช้เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน การจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าด้านการเกษตร การพยากรณ์ทางการเกษตร การจัดระบบโซนนิ่งและแบบจำลองทางเกษตรหรือ Modeling System for Agricultural Impacts of Climate Change (MOSAICC) การให้บริการข้อมูลสภาพภูมิอากาศทางด้านการเกษตร หรือ อุตุนิยมวิทยาเพื่อการเกษตร รวมทั้งการพยากรณ์อากาศเพื่อพืชและสัตว์เศรษฐกิจและสถานการณ์ภัยแล้ง การใช้ดาวเทียมในการติดตามภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงสาเหตุหลักของภัยพิบัติด้านการเกษตรของประเทศไทย เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง และการนำเสนอแนวทางการวางแผนและบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การให้บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำเพื่อใช้ในการเกษตร รวมทั้ง ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โอกาสนี้ สศก. ได้นำเสนอการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อรับมือจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในการเตรียมความพร้อม การรับมือและการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันเกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ การจัดเตรียมเสบียงสัตว์และอพยพสัตว์ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภาคเกษตร นอกจากนี้ ข้อมูลด้านภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับการผลิตทางการเกษตร ทั้งพืช สัตว์ ประมง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มอบหมาย สศก. เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดทำ Big Data พร้อมกับดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Big Data Center) หรือ NABC ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2563 ซึ่งปัจจุบัน สศก. ได้บูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ พยากรณ์ สนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการพยากรณ์และเตือนภัยด้านการเกษตร โดยนำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศด้านการเกษตร และความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่างๆ ในอดีต เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพยากรณ์และเตือนภัยทางการเกษตร เพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารได้เป็นอย่างดี