นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุน ผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 นับเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่มาตรฐานใหม่ (New Normal) ในทุกภาคส่วน รวมถึงฝั่งทางด้านการลงทุน ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยมองว่าทิศทางการลงทุนภายในทศวรรษหลังจากนี้ จะเปลี่ยนแปลงโดยมีสภาพคล่องเป็นแรงผลักดันและกำหนดราคาสินทรัพย์มากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ด้วยการอัดฉีดสภาพคล่องทางการเงิน (QE) แบบไม่จำกัดวงเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ทำให้งบดุลของรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งทะลุกว่า 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ กดดันอัตราดอกเบี้ยให้คงอยู่ในระดับต่ำอีกนาน และด้วยปริมาณเงินส่วนเกินที่มีอย่างมหาศาล จำเป็นต้องไหลไปยังสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูง ดังที่ได้เห็นการสร้างจุดสูงสุดใหม่ของทองคำ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี มาแล้ว ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจากนี้ สินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน จะสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ มองว่าจะได้เห็นความมั่งคั่งย้ายจากตะวันตกสู่ตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน มีผลจากประเทศฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สูงสุด ขณะที่สถาบันทางเศรษฐกิจชั้นนำต่างวิเคราะห์ว่า จีน อาจเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก ขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกต่างติดลบ รวมถึงศักยภาพของจีน ที่มีความพร้อมในหลายด้าน ไม่ว่าจะโครงสร้างเศรษฐกิจและเงินทุนที่เข้มแข็ง ตลอดจนถึงความจริงจังในการปั้นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกขึ้นมาเทียบเคียงกับฝั่งตะวันตกอย่าง Facebook, Google, Amazon ฯลฯ ต่างสนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก
“เป็นไปได้ว่าความมั่งคั่งจะย้ายฐานจากตะวันตกมายังตะวันออกอย่างสมบูรณ์แบบ โดยมี ประเทศจีน เป็นศูนย์กลาง จีน มีความน่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะการเปิดรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น จากการเปิดตลาดหลักทรัพย์ใหม่ที่เน้นทางด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ บ่งบอกว่า จีน เอาจริงเอาจัง ในการปั้นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกขึ้นมาเทียบเคียงกับอเมริกา จึงมีโอกาสสูงที่นักลงทุนทั่วโลกจะย้ายเม็ดเงินลงทุนจากตลาดหุ้นฝั่งตะวันตกมายังหุ้นเทคโนโลยีของจีน และมองว่าตลาดหุ้นในเอเชียอื่นๆ น่าจะได้รับอานิสงส์จากกระแสเงินทุนไหลมายังตะวันออกเช่นกัน นับเป็นโอกาสศึกษาการลงทุนตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้านของเรามากขึ้น”
อีกประเด็นที่น่าจับตาคือ การกระจุกตัวของความมั่งคั่งจะรุนแรงขึ้น ต้องยอมรับว่าการทำคิวอี มีผลต่อความแตกต่างในด้านความมั่งคั่ง (Poverty) ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีช่องว่างของรายได้ที่มีระยะห่างที่สูงขึ้น เพราะการอัดฉีดทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ปรับตัวขึ้น โดยสินทรัพย์ที่สร้างผลกระทบต่อชนชั้นกลาง-ชั้นล่าง มากที่สุด คือราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในหัวเมืองใหญ่ทั่วโลก ต่างปรับตัวสูงขึ้นจากการปั่นราคา ทำให้ชนชั้นกลาง-ชนชั้นล่าง แทบไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้าน รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่มีโอกาสรับความช่วยเหลือให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจมากกว่าธุรกิจรายใหม่ ขณะที่เม็ดเงินของนักลงทุนสถาบันมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ส่วนนักลงทุนรายย่อยมีจำนวนน้อยที่จะสามารถอยู่รอดในตลาดการลงทุนได้
“วิกฤตโควิด-19 เป็นการฉายภาพซ้ำจากวิกฤตซับไพรม์และยิ่งจะทำให้นักลงทุนรายย่อยที่มีเม็ดเงินจำกัดอยู่รอดได้ยากขึ้นจากความผันผวนของตลาดที่มีสูงขึ้น นักลงทุนรายย่อยในยุคนี้จึงต้องเตรียมปรับตัวรับกับวิถีการลงทุนใหม่กันให้ได้”