ซีพีเอฟ ยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยสูงสุดรับนิวนอร์มอล เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสวัสดิภาพสัตว์

พฤหัส ๐๓ กันยายน ๒๐๒๐ ๐๙:๑๗
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ มุ่งมั่นยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ผ่านการพัฒนานวัตกรรมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัย สร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพ ตอบรับเทรนด์การใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล

นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านมาตรฐานอาหารสากล ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะกรรมการสวัสดิภาพสัตว์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาปรุงอาหารทานเองที่บ้านมากขึ้น และมีความตระหนักถึงเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้จะต้องปลอดภัยและมาจากการผลิตที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำธุรกิจด้านเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารชั้นนำ จึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มของสินค้าที่เหนือกว่า บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใส่ใจในทุกขั้นตอนและคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ตลอดกระบวนการผลิต ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ พร้อมทุ่มเทวิจัยศึกษาหาแนวทางและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยสูงสุด และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ซีพีเอฟได้ริเริ่มใช้หลักสวัสดิภาพสัตว์ในการเลี้ยงไก่เนื้อมาเป็นระยะเวลากว่า 31 ปี นับตั้งแต่ปี 2532 โดยนำเทคโนโลยีโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศ หรือโรงเรือนอีแวปพร้อมอุปกรณ์อัตโนมัติมาใช้เป็นรายแรกของภูมิภาคอาเซียน ช่วยให้ไก่มีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ และแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างอิสระ ส่งผลช่วยให้ไก่มีสุขภาพพื้นฐานดี จึงไม่จำเป็นใช้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโตตลอดการเลี้ยง ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังเป็นภาคเอกชนไทยรายแรกนอกเขตสหภาพยุโรปที่ได้รับรองมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วโลก โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น

ปัจจุบัน กิจการซีพีเอฟในประเทศไทยและต่างประเทศมีเจ้าหน้าที่ด้านสวัสดิภาพสัตว์กำกับดูแลฟาร์มไก่เนื้อทุกแห่งคอยตรวจสอบและให้คำแนะนำ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทุกฟาร์มสามารถปฏิบัติตามแนวทางสวัสดิภาพสัตว์ถูกต้องและต่อเนื่อง โดยนับเป็นครั้งแรกของโลก ที่ภาคเอกชน ร่วมกับ AW Training มหาวิทยาลัยบริสตอล แห่งสหราชอาณาจักร ฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์ปีก

บริษัทฯ ได้เริ่มนำเทคโนโลยี smart farm มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มไก่เนื้อ โดยติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ และระบบอัตโนมัติในการประมวลผลข้อมูลในฟาร์ม และช่วยควบคุมการจัดการฟาร์ม เพื่อให้ไก่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมตลอดช่วงการเลี้ยง พร้อมกับสร้างเสริมให้ไก่มีความสุขด้านจิตใจ จากการแสดงออกพฤติกรรมธรรมชาติด้วยการเพิ่มวัสดุสำหรับจิกเล่นไว้ในโรงเรือนหรือมีคอนไว้ให้ไก่ปีนป่าย

นอกจากนี้ บริษัทได้พัฒนาเนื้อไก่พรีเมียม “Benja Chicken” จากแบรนด์ยูฟาร์ม ในปี 2561 เป็นผลิตภัณฑ์ไก่สดรายแรกของโลกที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้อง เลี้ยงตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ เป็นผลิตภัณฑ์ไก่ 100% จากธรรมชาติ ปลอดสาร เป็นผลิตภัณฑ์ไก่สดที่ได้รับการรับรองจาก NSF สถาบันระดับโลก ว่าปราศจากยาปฏิชีวนะ ไม่มีการใช้ฮอร์โมนตลอดการเลี้ยงดู และเป็นนวัตกรรมอาหารที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและเชฟทั้งในและต่างประเทศ

ด้าน นายสัตวแพทย์ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจสุกรของซีพีเอฟ กล่าวว่า ธุรกิจสุกรของซีพีเอฟ ได้เดินหน้าปรับเปลี่ยนโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้องเป็นระบบการเลี้ยงคอกขังรวม เพื่อเป็นการให้อิสระแม่พันธุ์อุ้มท้องในการเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์กับสุกรตัวอื่นๆ ทำให้แม่สุกรรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด และสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ โดยตั้งเป้าภายในปี 2568 ฟาร์มแม่พันธุ์อุ้มท้องของซีพีเอฟในประเทศไทยจะเป็นคอกขังรวมทั้งหมด และในปี 2571 ฟาร์มสุกรอุ้มท้องของซีพีเอฟทั่วโลกจะเป็นระบบคอกขังรวม 100%

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังพยายามลด ละ เลิก การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสุกรทั้งในรูปแบบของการทำหมัน การตัดหรือกรอฟัน และการตัดหาง ตามหลัก 3’Ts (No Testicles, No Teeth Clipping and No Tail Docking) พร้อมนำของเล่น เช่น ลูกบอล เชือก มาให้หมูได้กัดเล่น เพื่อลดความเครียด และสอดคล้องตามพฤติกรรมธรรมชาติที่หมูชอบสำรวจหาอาหารและเคี้ยวเล่น การเสริมของเล่นจะช่วยลดพฤติกรรมการกัดกันเองจนบาดเจ็บ

ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ธุรกิจสุกรในประเทศไทยสามารถยกเลิกการตอนลูกสุกรกว่า 700,000 ตัว ยกเลิกการกรอเขี้ยวลูกสุกรมากกว่า 2 ล้านตัว ยกเลิกตัดใบหูมากกว่า 3 ล้านตัว และทยอยยกเลิกการตัดหางลูกสุกรกว่า 3,000 ตัว ขณะที่ ธุรกิจสุกร ในประเทศมาเลเซียและไต้หวัน ไม่มีการตัดหรือกรอฟันแล้ว 100%

สำหรับธุรกิจสัตว์น้ำ ปัจจุบันในการเพาะลูกกุ้งของซีพีเอฟได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ทำให้แม่พันธุ์กุ้งสามารถสร้างและวางไข่ได้ตามธรรมชาติ จึงไม่จำเป็นต้องตัดก้านตา (Female Non Eyestalk Ablation) รวมทั้งการนำโปรไบโอติกมาใช้ ช่วยให้กุ้งมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น และช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น จึงทำให้ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะอีกด้วย

ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์พยุงศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ซีพีเอฟ ยังได้ดำเนินการวัดผลการส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ (Welfare Outcome Measures :WOMs) เน้นการประเมินสุขภาพสัตว์ทั้งร่างกายและจิตใจ ของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ทั้งในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยหลัก คือ อัตราการเลี้ยงรอด อัตราการเข้าคลอด จำนวนแม่หมูที่เลี้ยงในคอกขังรวม จำนวนหมูที่ไม่ตอน และไม่ตัดหาง ระยะเวลาการขนส่ง และการทำให้สลบก่อนการชำแหละ การแสดงออกพฤติกรรมทางธรรมชาติ เป็นต้น เป็นการสร้างมาตรฐานในอุตสาหกรรมการอุตสาหกรรมการผลิตอาหารให้คงความเป็นผู้นำในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยได้บริโภคอาหารปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล มีสุขภาพที่ดี และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ