สำหรับในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงรับรองให้เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด
รมช.มนัญญา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความพร้อมของสถาบันเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ คือ 1) มีสหกรณ์ที่มีสมาชิกเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 807 แห่ง มีสมาชิก 223,155 ราย มีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 900,224 ราย พื้นที่ปลูกยางพาราของสมาชิก 3,462,646 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 820,647 ตัน/ปี 2) มีสหกรณ์ทำธุรกิจยางพารา ธุรกิจรวบรวมน้ำยางสด รวบรวมยางก้อนถ้วยแปรรูปยางแผ่นรมควัน แปรรูปยางเครป แปรรูปยางแท่ง และแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 661 แห่ง ปริมาณธุรกิจ 475,258 ตัน/ปี มูลค่า 16,998 ล้านบาท/ปี 3) กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) แก่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน จำนวน 2 ครั้ง ที่จังหวัดสตูลและจังหวัดจันทบุรี 4) ปัจจุบันสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน ที่มีศักยภาพในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) จำนวน 18 แห่ง กำลังการผลิต 1,200 กิโลเมตร/ปี หลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) จำนวน 13 แห่ง กำลังการผลิต 832,800 ต้น/ปี
ทั้งนี้ จะมีการขยายผลให้สหกรณ์เข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม คาดว่าจะได้รับการเข้าร่วมโครงการจากสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายางพารา จำนวน 31 แห่ง สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราได้ 5,384.09 ล้านบาท ซึ่งจากการคาดการณ์ในระยะที่ 1 นี้ จะสามารถรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรได้ 34,481 ตัน และเมื่อคิดตลอดโครงการฯ ถึงปีงบประมาณ 2565 จะรวบรวมน้ำยางสดจากเกษตรกรเพื่อใช้ในการผลิตได้ 1.007 ล้านตัน เกิดการจ้างงานในชุมชน และช่วยกระดับราคายางพาราได้ไม่น้อยกว่า 30 บาท/กิโลกรัม คิดเป็นเงินที่เกษตรกรจะได้รับ 30,018 ล้านบาท เป็นการสร้างกลไกตลาดที่ช่วยยกระดับและสร้างเสถียรภาพราคายางพารา และสร้างความเชื่อมั่นในอาชีพแก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราอีกด้วย ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว นอกจากจะลดความสูญเสีย ช่วยสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนนที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ยังเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศให้มีมั่นคงต่อไป
รมช.มนัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงคมนาคม ในเรื่องการผลิต “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต” และ “หลักนำทางยางธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ปรากฏว่า ราคายางพาราทำลายสถิติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ราคายางพาราสูงถึง 60 กว่าบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา จึงเชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพของราคายางพาราในประเทศไทย