ผอ.สสว. เผยว่า ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสุขภาพและความงามเติบโตต่อเนื่องในหลายปีด้วยต้นทุนทางทรัพยากร คุณภาพมาตรฐาน แบรนด์ อิมเมจของประเทศไทย และการผลักดันไปสู่การเป็น ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ด้านสุขภาพและความงามในภูมิภาคนี้ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ ความงาม คุณภาพและระบบการให้บริการอย่างครบวงจร รวมถึงการที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่มีระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขที่ดีมาก
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากจากวิกฤติเศรษฐกิจและโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบแหล่งรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกของประเทศ สสว. จึงได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2563 โดยการผนึกกำลังเครือข่าย สร้างโอกาสและทางรอดของ SME ของคลัสเตอร์ Health & Wellness อาทิ เช่น กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการเงิน รวมถึง ภาคเอกชน เช่น ตัวแทนการจัดซื้อจากห้างสรรพสินค้าหรือบริษัทออนไลน์ชั้นนำ โดย สสว. ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อวางแนวทางกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตของอุตสาหกรรม Health & Wellness Economy
นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินงานของ สสว. คือ มีการพัฒนาภายใต้แนวทาง สสว. CONNEXT “เชื่อมคน เชื่อมเอสเอ็มอี เชื่อมโลก” โดยมีกรอบแนวทางในการพัฒนา ทั้ง 3 มิติ ซึ่งประกอบไปด้วย 1.การเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน 2.การเพิ่มช่องทางการตลาด โดยเชื่อมต่อทั้งช่องตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ สสว. เช่น ตลาดช้อปแชท ตลาด กทบ. สสว. และตลาดมะเฟือง การส่งเสริมตลาดออฟไลน์ เช่น การจัดงานแสดงสินค้า และการทดสอบตลาด และการจับคู่เจรจาธุรกิจ และ 3. การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ SME ซึ่งจากกรอบแนวทางการพัฒนานี้เองที่ สสว. จะส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่ม Strong/Regular ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level)
“ประเทศไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจหมุนเวียนจากภายในประเทศ ผู้ประกอบการต้องตั้งหลัก หากระแสเงินสด ปรับกลยุทธ์ธุรกิจและพร้อมรุกตลาดให้ไวเมื่อวิกฤตได้คลี่คลาย เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันได้ทันท่วงที ซึ่งโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ได้เข้าไปช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริการ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ รวมทั้งได้รับการต่อยอดจากการสนับสนุนงบประมาณในการตรวจรับรองมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งคาดว่า การเข้าไปพัฒนาดังกล่าวจะสร้างรายได้หรือยอดขายเพิ่มขึ้นคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท” นายวีระพงศ์ กล่าวในที่สุด