นายกี่เดช เปิดเผยว่า จากการพบปะหารือกันในครั้งนี้ จะเป็นการต่อยอดโครงการธนาคารน้ำใต้ดินที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในตำบลเด่นราษฎร์ และ ตำบลดูกอึ่ง อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 3,095 บ่อ เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วและได้ส่งมอบให้กับทางจังหวัดร้อยเอ็ดไว้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชน ซึ่งเป็นโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน “หนองฮีโมเดล” ที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ต่อมาทางคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ และคณะกรรมการกองทุนประกันภัยพืชผล ได้มีดำริที่จะสนับสนุนการต่อยอดโครงการร่วมกับ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้” ที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างน้ำกลางดินทรายบนจุดสูงสุดของที่ราบสูง เพื่อให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้การจัดการน้ำครบวงจรด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน” เพื่อให้เป็นต้นแบบการจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน พร้อมทำเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงและพืชผลนอกฤดูกาล” ในภาคอีสาน เพื่อให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาและขยายผลของวิธีการทำเกษตรกรรมสมัยใหม่ให้เกิดการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนในชีวิตของตนเอง ที่ผ่านมาทาง มทร.อีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ได้ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินไว้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่แห้งแล้งจัด น้ำจึงไม่เพียงพอ เมื่อเป็นเช่นนี้ สมาคมฯ จึงสนับสนุนงบประมาณให้ขุดเพิ่มอีก 10 บ่อ แยกเป็นบ่อเปิด ขนาด 40?40?10 เมตร จำนวน 4 บ่อเปิด ขนาด 10?10?10 เมตร อีก 4 บ่อ และบ่อแบบทูอินวันอีก 2 บ่อ ซึ่งการสนับสนุนของสมาคมฯ ในครั้งนี้ทำให้โครงการบริหารจัดการน้ำของมหาวิทยาลัยนั้นครบสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้และสามารถดำเนินการเพาะปลูกและพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรและชุมชนต่อไปได้
“นี่คือการเข้าไปช่วยเติมเต็มในการแก้ปัญหาน้ำของทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งที่ผ่านมาทาง มทร. อีสาน ได้ทำไปในระดับหนึ่งแล้ว จากไม่มีน้ำทำให้มีน้ำ จากหน้าแล้งปลูกอะไรไม่ได้เลย ก็สามารถปลูกพืชผัก ฟักทอง ปลูกถั่วลิสงได้ จากมีแต่ทรายหนา ๆ สูง ๆ ไม่มีหญ้าก็สามารถปลูกหญ้าเลี้ยงควายได้ ซึ่งเป็นความพยายามช่วยเหลือเกษตรกรของสมาคมประกันวินาศภัยไทยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย” นายกี่เดช กล่าวปิดท้าย