สวนทุเรียนลุงแกละ ปรับใช้ Agritech ลดต้นทุน ลดเวลา เพิ่มมูลค่าผลผลิต

อังคาร ๑๕ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๐:๐๑
ปัญหาหลักของเกษตรกรยุคเก่า คือราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดในระยะเวลาใกล้เคียงกันจำนวนมาก ทำให้ราคาผลผลิตต่ำตามกลไกของดีมานด์ ซัพพลาย คือมีมากราคาก็ถูก มีน้อยราคาก็แพง ขณะเดียวกันเกษตรยุคก่อนไม่สามารถคำนวณต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ขาดการเรียนรู้เรื่องการลดต้นทุนภาคผลิต พึ่งพาตลาดเดียว ก็ยิ่งทำให้เกษตรกรประสบปัญหาเรื่องรายได้ สุดท้ายเกิดเป็นปัญหาระดับชาติ คือความยากจนในภาคเกษตร

ปัจจุบันวงการเกษตรไทยมีการพัฒนามากขึ้น เกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ที่เรียกว่า 'เกษตรปราดเปรื่อง’ หรือ Smart Farming แนวคิดการทำเกษตรแบบใหม่ โดยเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีใจรักการเกษตร หรือ Young Smart Farmer ส่งเสริมให้รู้จักบริหารจัดการเกษตร โดยนำ Agriculture Technology (Agritech) นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต

นิธิภัทร์ ทองอ่อน หรือ 'โอ๋’ เจ้าของสวนทุเรียนลุงแกละ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง หนึ่งในเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ด้วยการนำแนวคิดสมัยใหม่มาปรับเปลี่ยนสวนทุเรียนที่รับสืบทอดจากคุณพ่อ คือ 'ลุงแกละ’ หรือ 'คุณสำรวย ทองอ่อน’ ซึ่งแต่เดิมทำการเกษตรในแปลงแบบผสมผสาน ทั้งทุเรียน เงาะ ลองกอง ขนุน และยางพารา บนผืนดินขนาด 60 ไร่ซึ่งเป็นมรดกของตระกูล

เมื่อ 'โอ๋’ เข้ามารับไม้ต่อจากคุณพ่อ สิ่งแรกที่ทำคือ 'การเคลียร์แปลง’ โดยเก็บเฉพาะต้นทุเรียนและจัดการแปลงใหม่ให้มีพื้นที่เป็นสัดส่วน เพื่อให้การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้งานในแปลงทำได้สะดวกขึ้น และกำหนดเป้าหมายในการทำให้ทุเรียนออกผลผลิตนอกฤดูกาล ซึ่งมีราคาสูงกว่าผลผลิตตามฤดูกาลนั่นเอง

โดยหลักการทำให้ทุเรียนออกผลผลิตนอกฤดูกาลนั้นก็ไม่ซับซ้อน คือดินดี น้ำดี ปุ๋ยดี สิ่งเหล่านี้สามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ในแปลงปลูกได้ อาทิ การใช้แอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศที่มีฟังก์ชันตรวจสภาพพื้นดินในแปลงว่าผืนดินตรงไหนมีความสมบูรณ์ ตรงไหนแห้งแล้งควรบำรุงดิน ตรวจความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ แถมยังมีฟังก์ชันคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนล่วงหน้าได้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ในการกำหนดเวลาให้ฮอร์โมน ปุ๋ย และน้ำที่เหมาะสมสำหรับทุเรียน เมื่อต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์ ก็จะมีความพร้อมในการออกผลผลิตแม้จะยังไม่ใช่ฤดูกาลก็ตาม ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับการวางแผน บริหารจัดการ คำนวณเวลา และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

ลงทุนเครื่องจักร ลดแรงงานคน ประหยัดเวลา ปัญหาอีกประการของเกษตรกร คือ 'ต้นทุนแรงงาน’ ขณะที่การนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคนในปัจจุบันต้องลงทุนสูง แต่ 'โอ๋’ มองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แถมตนยังเรียนจบในสาขาการจัดการอุตสาหกรรม ทำให้มีความรู้ด้านเครื่องจักรที่สามารถนำมาใช้ทดแทนแรงงานคนได้ เลยลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อใช้งานในสวนทุเรียน โดยเครื่องจักรที่นำมาใช้หลักๆ คือรถพ่นยา รถกระเช้า และรถตัดหญ้า รถพ่นยาสามารถลดแรงงานคนได้มาก จากเดิมต้องใช้แรงงานอย่างน้อย 3 คน พอมีรถพ่นยาก็ใช้แค่คนเดียว แถมประสิทธิภาพของรถพ่นยาก็ดีกว่าใช้แรงงานคน

ส่วนการนำรถกระเช้ามาใช้ในสวนทุเรียน 'โอ๋’ มองเรื่องความปลอดภัย ทุเรียนเป็นไม้ยืนต้นสูง การเก็บเกี่ยวจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำงานบนที่สูง จึงนำรถกระเช้ามาใช้ในการตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งพุ่มทรง แต่งดอก รวมถึงการเก็บผลทุเรียน สำหรับรถตัดหญ้า หากเปรียบเทียบกับการใช้แรงงานคน สวนทุเรียนพื้นที่ 60 ไร่ ต้องใช้แรงงานตัดหญ้าอย่างน้อย 4 คน และต้องใช้เวลาถึง 10 วัน กว่าจะเสร็จ แต่เมื่อนำรถตัดหญ้ามาใช้งาน สามารถทำงานคนเดียวได้ ตัดหญ้าได้วันละ 20 ไร่ พื้นที่ 60 ไร่ใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนแรงงาน ยังลดเวลาทำงาน สามารถนำเวลาที่เหลือไปทำงานอย่างอื่นได้อีก

“การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตรจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะในอนาคตแรงงานในภาคเกษตรจะน้อยลง และเมื่อเกิดสถานการณ์นั้นจริง เราก็ยังมีเครื่องจักรที่ทดแทนแรงงานคนมาทำงานได้ต่อ”

สำหรับปัญหาหลักๆ ของเครื่องจักรคือ การดูแลรักษา และซ่อมบำรุง โชคดีที่ 'โอ๋’ มีความรู้ด้านนี้ เนื่องจากเรียนจบด้านเครื่องจักรโดยตรง ทำให้สามารถจัดการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงในเบื้องต้นได้ ทั้งมองว่าปัญหาเรื่องเครื่องจักรนั้นมีน้อยกว่าปัญหาแรงงานคนเสียด้วยซ้ำ

จัดการเงินหมุนเวียน และการตลาดทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ ในด้านการบริหารเงินทุนในสวนทุเรียนลุงแกละ 'โอ๋’ บอกว่าต้องเตรียมเงินหนุนเวียนไว้ 7 เดือน เพราะในช่วงพักต้นทุเรียนจะใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน ดังนั้นเงินก้อนที่ได้จากการขายทุเรียน 40% จะนำไปเป็นเงินสำรอง ปันส่วนอีก 40% เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป อาทิ ค่าปุ๋ย ฮอร์โมน ยา ค่าแรงงานคน และยังแบ่งไปในการลงทุนด้านเครื่องจักรอีกด้วย

ส่วนการตลาดได้มีการวางแผนไว้ 2 แบบ โดย 80% ยังเป็นการทำตลาดแบบออฟไลน์ ขายส่งให้พ่อค้าในประเทศ และส่งออกไปขายที่ประเทศจีน ส่วนอีก 20% เน้นทำการตลาดออนไลน์ ในรูปแบบการเปิดรับจองทุเรียนผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กสวนทุเรียนลุงแกละ

สำหรับลูกค้าที่สั่งจองทุเรียนออนไลน์ ทางสวนจะแขวนป้ายชื่อ และรูปลูกค้าเอาไว้ที่ผลทุเรียน รวมถึงมีสมุดคู่มือแนะนำ การเช็กระยะการสุกของทุเรียน ควรเก็บอย่างไร และวิธีเคาะฟังเสียง แยกเสียงทุเรียนว่าสุกถึงระยะไหน เพื่อให้ตรงกับความชอบของลูกค้า โดยจะอธิบายไว้ในสมุดคู่มือส่งให้ลูกค้าในแบบฉบับที่เข้าใจง่าย

'โอ๋’ แนะนำเกษตรกรที่มีแนวคิดนำเทคโนโลยีมาใช้ในสวนว่า อยากให้เกษตรกรย้อนกลับไปมองปัญหาที่สวนก่อนว่ามีอะไรบ้าง และตีโจทย์ให้แตก ถ้าอยากใช้เครื่องจักร อาจเริ่มต้นจากการศึกษาหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก่อนว่า เครื่องจักรนั้นทำงานอย่างไร เหมาะสมกับแปลงปลูกของเราหรือไม่ สามารถนำมาปรับใช้ได้ไหม และที่สำคัญ ยังไม่ต้องเริ่มลงทุนในเครื่องจักรราคาแพง อาจเริ่มจากเครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่งก่อน แล้วเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่อยลงทุนด้านเครื่องจักรเพิ่มเติม ทั้งนี้ต้องใช้ความต่อเนื่องและการวางแผนที่รอบคอบ

การนำองค์ความรู้มาต่อยอด ผนวกกับการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่อย่างเหมาะสมจากแนวคิดของ 'โอ๋’ เจ้าของสวนทุเรียนลุงแกละ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการทำเกษตรสมัยใหม่ และเชื่อว่าผู้อ่านจะสามารถนำแนวทางเหล่านี้ไปต่อยอดธุรกิจของตนเองได้อย่างเหมาะสม

Website: https://www.bangkokbanksme.com/en/lung-kla-durian-agritech-costs-reduces-time-product-value

Facebook: https://business.facebook.com/940017096029717/posts/3685132994851433/

Twitter: https://twitter.com/BangkokBankSme/status/1298243736250601474

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๕ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ให้แก่ โรงเรียนบ้านดอนมะกอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๐๙:๐๕ กทม. เข้มงวดโครงการก่อสร้างคอนโดฯ ในซอยสุขุมวิท 93 ปฏิบัติตามมาตรการ EIA
๐๙:๕๐ การเคหะแห่งชาติตั้งเป้าสร้างที่อยู่อาศัยรองรับสังคมผู้สูงอายุ
๐๙:๒๘ ทำอย่างไรจึงจะทำให้มีการใช้ generative AI มากขึ้น
๐๙:๔๐ NocNoc จับมือ กฟผ. ส่งความสุขปีใหม่ให้คนรักบ้าน มอบส่วนลดสินค้าประหยัดไฟเบอร์ 5 สูงสุด 500 บาท เมื่อช้อปผ่าน NocNoc Chat Shop ทัก-ช้อป-ลด เริ่ม 25 ธ.ค. 67
๐๙:๑๔ Warrior ตั้ม ศุภกิตติ์ หรือ ตั้ม โทมัส ทอม จากทีมมาสเตอร์ ดร.อั้ม อธิชาติ คว้าชัย The Social Warrior คนแรกของประเทศไทย
๐๙:๑๘ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัด Pitching day การเขียนโฆษณา และ การเล่าเรื่องผ่านแคมเปญ
๐๙:๔๔ รมว.เอกนัฏ โชว์ ดีพร้อม หนุนซอฟต์พาวเวอร์แฟชั่นไทย ในงาน ShowPow ต้อนรับปีใหม่ ส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น
๐๙:๓๒ กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) หารือแนวทางความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายใต้โครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล)
๐๙:๐๘ มูลนิธิอายิโนะโมะโต๊ะ ส่งมอบอาคารโรงอาหารอายิโนะโมะโต๊ะ ภายใต้โครงการ อายิโนะโมะโต๊ะ โภชนาการเพื่อเด็กไทย