นายชานนท์ บุรี อาจารย์ประจำสาขาวิชาสมุนไพรไทย กล่าวว่า สมุนไพร ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากสามารถนำมาทำเป็นยารักษาได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพได้ ที่สำคัญยังสามารถนำมาสร้างงาน สร้างอาชีพได้อีกด้วย สาขาวิชาสมุนไพรจึงเป็นสาขาที่จะทำให้วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาวิชาชีพด้านสมุนไพรและการพัฒนาตนเองของผู้เรียนให้มีความสามารถในการประกอบอาชีพภายใต้บริบทของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยยึดแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีหลักปรัชญาที่ว่า ใฝ่เรียนรู้ อยู่พอเพียง เคียงคู่คุณธรรม นำชุมชน สำหรับเนื้อหาการเรียนการสอน คือ ศึกษาเกี่ยวกับการเลือกใช้สมุนไพรที่เป็นตัวหลักในสูตรต่างๆ การใช้วัสดุ อุปกรณ์ในการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่องานอาชีพ การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น การทำยาแก้ปวดเมื่อย จากเมล็ดลำไย การทำบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการคำนวณราคาต้นทุน และการกำหนดราคา โดยมีค่าสมัครเรียน ๑๖๐ บาท
นางสาววิมพ์วรา วงษ์ใหญ่ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เร่งผลักดันเพื่อดำเนินการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น และผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา ให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สาขาเทคโนโลยีความงาม จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการศูนย์ฝึกอบรมระยะสั้นเสริมสวยเฉพาะทาง และให้คำปรึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเสริมสวยสมัยใหม่ ประกอบด้วย การพัฒนาต่อยอดหลักสูตรเดิม และการพัฒนาหลักสูตรใหม่ สำหรับหลักสูตรนวดหน้าสปาเด้ง เป็นหลักสูตรที่มีการยกระดับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยวิทยากรภายใน ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถานประกอบการภายนอก และเพิ่มขีดความสามารถในการใช้สื่อและเครื่องมือเทคโนโลยีความงามอย่างเต็มศักยภาพ นักเรียน นักศึกษา ที่มาเรียนในหลักสูตรนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรสปาหน้าใส การใช้เครื่องสปาหน้าไคโอเย็น การใช้หน้ากากบำบัดด้วยแสง รวมทั้งการวางแผนประกอบอาชีพนวดหน้าเชิงธุรกิจ ซึ่งมีค่าสมัครเรียน ๓๐๐ บาท
หากสนใจหรือต้องการเรียนสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาวิชาสมุนไพรไทย สาขาเทคโนโลยีความงาม หรือสาขาอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. ๐๒-๔๓๗-๕๓๗๑ หรือวิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เลขาธิการฯ กล่าวปิดท้าย