STGT มั่นใจวัคซีนคืบหน้าไม่กระทบดีมานด์ถุงมือยาง รับออเดอร์ยาวถึงปี 2565 ประเมินพฤติกรรมยุค New Normal หนุนภาพรวมตลาดเติบโต 15-20% ต่อปี

พุธ ๑๖ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๓:๓๕
บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT มั่นใจดีมานด์ถุงมือยางขยายตัวต่อเนื่องแม้มีความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 ตุนออเดอร์รอส่งมอบยาวถึงต้นปี 2565 ชี้พฤติกรรมยุค New Normal ที่คนทั่วโลกใส่ใจสุขอนามัยและความสะอาดมากขึ้น หนุนภาพรวมตลาดถุงมือยางเติบโตได้ 15-20% ต่อปี ปรับแผนลงทุนเร่งเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเร็วกว่าแผนเดิม เป็นประมาณ 70,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 จากเดิมปี 2571

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถุงมือยางธรรมชาติและถุงมือยางไนไตรล์รายใหญ่ของโลก เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความคืบหน้าด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรค COVID-19 บริษัทฯ ยังเชื่อมั่นว่าการพัฒนาวัคซีนไม่ได้ส่งผลให้ออร์เดอร์ถุงมือยางลดลงแต่อย่างใด โดยบริษัทฯ มั่นใจว่าภาพรวมความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณเฉลี่ยปีละ 15-20% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดโรคระบาดที่ภาพรวมตลาดถุงมือยางทั่วโลกมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 8-12% ต่อปี

ปัจจัยสนับสนุนอุตสาหกรรมถุงมือยาง นอกเหนือจากความจำเป็นที่ต้องใช้ถุงมือในการจัดการตามมาตรฐานสาธารณสุขโดยปกติและที่เพิ่มขึ้นจากการป้องกันโรค COVID-19 แล้ว ปัจจัยอุปสงค์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยและใส่ใจความสะอาดมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นวิถีการดำเนินชีวิตแบบปกติใหม่ (New Normal) ขณะเดียวกันก็เกิดการขยายตัวของการใช้ถุงมือยางในภาคอุตสาหกรรม จากเดิมที่มีความต้องการใช้ในด้านการแพทย์เป็นหลัก มาสู่การใช้งานในอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร, ภาคการบริการภายในสนามบิน ฯลฯ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทฯ เดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิต โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นกว่า 32,600 ล้านชิ้นต่อปี รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อสินค้าถุงมือยางอย่างต่อเนื่องจากลูกค้าในไทยและต่างประเทศ โดยมีออเดอร์ถุงมือยางธรรมชาติที่ต้องผลิตเพื่อส่งมอบถึงช่วงปลายปี 2564 และถุงมือยางไนไตรล์ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ มีออเดอร์ที่ต้องส่งมอบถึงต้นปี 2565 จากสถานการณ์ดังกล่าว บริษัทฯ จึงปรับแผนการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตให้เร็วขึ้น โดยวางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งอีกกว่า 38,000 ล้านชิ้นต่อปี รวมเป็นประมาณ 70,000 ล้านชิ้นต่อปีภายในปี 2569 จากแผนงานเดิมกำหนดไว้ภายในปี 2571 ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตที่โรงงานจังหวัดตรัง สุราษฎร์ธานี อำเภอหาดใหญ่และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และจังหวัดชุมพร ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทเป็นที่เรียบร้อย เพื่อตอบสนองความต้องการใช้สินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนขยายกำลังการผลิตรวมประมาณ 24,000 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตทำสถิติใหม่ต่อจากจากครึ่งปีแรก ที่มีรายได้รวม 8,664.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,478.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 350.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายถุงมือยางธรรมชาติ 65% และถุงมือยางไนไตรล์ 35% จากการจำหน่ายสินค้าในไทยและส่งออกกว่า 140 ประเทศทั่วโลก

“เรามั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตที่ดี โดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าที่เป็น Best in Class และพัฒนาถุงมือยางรุ่นใหม่ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการในตลาด พร้อมส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีเพื่อปกป้องการสัมผัสแก่ผู้ใช้งาน สอดคล้องกับแนวคิด Touch of Life เพราะทุกสัมผัสนั้นมีความหมายต่อชีวิต” นางสาวจริญญา กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ