คำว่า New Normal จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายให้หลายองค์กรต้องปรับตัว โดยเฉพาะการดำเนินงาน ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมภายใต้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
ชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม (ชรส.) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและองค์กรเครือข่ายกว่า 52 แห่ง ร่วมกัน จัดเสวนา ในหัวข้อ “พลังรัฐวิสาหกิจไทย วิถีใหม่ วิถียั่งยืน” ถอดบทเรียนรัฐวิสาหกิจไทยในการขับเคลื่อนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก 4 รัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศมาร่วมเสวนาแบ่งปันประสบการณ์ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ การประปานครหลวง โดยมี นายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และประธานมูลนิธิ มีชัย วีระไวทยะ และผู้ก่อตั้งชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อชุมชน และนายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม ร่วมงาน
สร้างสมดุลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “ลูกค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”
นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวถึงบทบาทของ ปตท. ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า “ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารความยั่งยืน 3 ด้าน (3Ps) อย่างสมดุล ประกอบด้วย การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลชุมชนและสังคม (People) การอนุรักษ์ทรัพนากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และเป็นฐานความมั่นคงให้แก่ภาคเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน (Prosperity) ตลอดจนสร้างสมดุลในการตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยยึดมั่นหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปตท.ได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากราคาน้ำมันลดลงมาก รวมถึงความต้องการในการใช้น้ำมันก็ลดลงมากด้วยเช่นกัน จนถึงกับต้องปรับแผนธุรกิจและการลงทุนเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ โครงการสานพลังใจช่วยภัยโควิด-19 จึงเกิดขึ้นโดยระดมความเชี่ยวชาญสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ทั้งการสนับสนุนเชิงป้องกันโรคระบาดและการฟื้นฟูผลกระทบสนับสนุนและส่งเสริมช่องทางการตลาดเพื่อการจำหน่าย หรือกระจายผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนา platform การขาย และพัฒนาชุมชนให้เป็นผู้ประกอบการ กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการท่องเที่ยวชุมชน
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ในช่วงโควิด-19 คือ เราต้องดูแลลูกค้าทุกราย (Dealer) ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ด้วยการยืดอายุการจ่ายเงิน (ให้เครดิต) เรื่องนี้จึงไม่ใช่ผลกระทบของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือทั้งประเทศ มันเชื่อมต่อกันซึ่งนอกจากการให้ความช่วยเหลือด้าน Financial แล้ว ปตท.ยังสนับสนุนเรื่องเทคนิค ด้วยการให้คำแนะนำซ่อมบำรุงอุปกรณ์ เครื่องมือให้กับลูกค้า เพื่อรอวันที่จะ Restart กลับมา ถ้ามองสองด้านก็คือ ได้ปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมๆกับการดูแลลูกค้า ลูกค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เช่นกัน”
โควิด – 19 ตัวช่วยพิสูจน์กระบวนการซีเอสอาร์
นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า “เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด – 19 กระบวนการภายในต่างๆถูก Disrupt ถูกแปรเปลี่ยนไป ให้ทำเหมือนเดิมไม่ได้ อีกแล้ว ในการทำงาน CSR ผมมองอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ โควิด – 19 มาพิสูจน์กระบวนการที่เราทำอยู่ว่าใช่ หรือไม่ใช่ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมขนาดไหน ทั้งด้านระยะเวลาดำเนินการ วิธีการ รวมถึงงบประมาณ เพราะว่าในสถานการณ์ปกติเราก็ค่อยๆพัฒนาให้เติบโตไปเรื่อยๆ แต่เมื่อโควิด – 19 มา สถานการณ์บีบบังคับ สิ่งนี้ก็คือการพิสูจน์ว่าแผนงานการดำเนินงานด้าน CSR ที่เราทำอยู่ให้ผลตอบแทนกลับมาภายในเวลาที่กำหนดขนาดไหนอย่างไร ประเด็นที่สอง คือ โควิด – 19 แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีต่างๆ เมื่อ 3 - 5 ปี ที่ในองค์กรต่างๆ อาจจะใช้ได้ดี แต่เมื่อ โควิด – 19 มา เรากลับไปสู่ความเรียบง่าย การประชุมทางออนไลน์ คนยังต้อง Work from Home เพราะฉะนั้นเมื่อ โควิด - 19 เขย่าให้เราเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ต้องปรับใหม่ ขณะเดียวกันไม่ใช่เฉพาะเราที่ปรับตัว แต่สังคมเขาก็มองเราเหมือนกัน สังคมเองก็ถูก Disrupt เหมือนกัน ในที่สุดแล้วเราต้องแสวงหาจุดร่วม ซึ่งจุดร่วมก็คือ เทคโนโลยี ผมมองว่าโควิด - 19 ก็คือ VUCA ตัวหนึ่งซึ่งอาจจะมาอีกก็ได้ในปีหน้า แต่ว่ามันขยับให้เราได้ทดลองปรับตัว ให้สอดรับกับวิถีใหม่”
วิกฤติโควิด – 19 ดันเกษตรกร ปรับพฤติกรรมจาก Offline สู่ Online
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการด้านพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กล่าวว่า “ภารกิจของ ธกส. คือ เป็นแหล่งทุนให้พี่น้องเกษตรกรไทยเข้าถึงบริการ ทางการเงิน จากสถานการณ์โควิด – 19 ครั้งนี้ กลับเป็นโอกาสที่ทำให้เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยี จากเดิมที่เราคิดว่าต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร กลับกลายเป็นว่าพี่น้องเกษตรกรใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์สามารถลงทะเบียนผ่านระบบ Electronic Banking ได้ ทำให้ธนาคารได้นำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าในช่องทางใหม่ๆ ทำให้ลูกค้าเรายกระดับ ซึ่งเราไม่คาดคิดว่าเขาจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เมื่อไหร่ก็ตามที่สถานการณ์กำหนดให้ต้องปรับตัว กลุ่มเกษตรกรก็มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็วโดยมีสถานการณ์โควิ –19 เป็นตัวเร่ง เดิมที่ธนาคารฯเคยตั้งสมมุติฐานว่าการยกระดับความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์และการบริการให้กับเกษตรกร ต้องรวมตัวกันที่ศาลาประชาคม แต่วันนี้เราสนทนากับลูกค้าของเราในเครือข่ายที่เรียกว่าครอบครัว ธกส. (LINE BAAC Family) วันนี้การตรวจเยี่ยมธนาคารโรงเรียนของเด็กๆ เมื่อก่อนเราต้องลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม วันนี้สามารถติดตามผลได้อย่าง Real Time เข้ามาเพื่อดูข้อมูลได้ ส่วนโครงการธนาคารต้นไม้ มี GPS ช่วยบอกความเจริญเติบโตของต้นไม้ ที่กล่าวมานี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับองค์กรที่เราได้รับบทเรียนจากโควิด – 19”
ในวันที่ “โรค” เปลี่ยน “โลก” คุณภาพชีวิตที่ดีต้องมาก่อน
นางราชิรัช อุทาโย ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) แลกเปลี่ยนบทเรียนการปรับองค์กรในช่วง โควิด – 19 แพร่ระบาดว่า “เมื่อ “โรค” เปลี่ยน “โลก” กปน. ก็ต้องเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่วิถี New Normal ด้วยเช่นกัน กปน.เชื่อว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นด้วยการบูรณาการและสร้างสมดุลระหว่างสังคม ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเมื่อเกิดโควิด – 19 ขึ้น กปน. ผู้ให้บริการน้ำประปาที่สะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ประชาชนควรได้รับอย่างเท่าเทียม สิ่งแรกที่เราร่วมกับภาครัฐและดำเนินารในทันที คือ ออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ด้วยการลดค่าน้ำประปา 3% เป็นระยะเวลา 3 เดือน ขยายเวลาการชำระค่าน้ำและสามารถผ่อนชำระได้ไม่เกิน 6 เดือน, คืนเงินประกันการใช้น้ำประเภทที่พักอาศัย และยกเว้นการตัดน้ำทั้งแบบชั่วคราวและถาวร รวมถึงปรับกระบวนการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามารองรับ เช่น Application MWA E-Service เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้น้ำ ผ่าน Smart Devices ต่างๆ อย่างสะดวกรวดเร็ว และปรับเปลี่ยนรูปแบบการฝึกอบรมวิชาชีพช่างประปาเพื่อประชาชน ผ่านทางออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนอย่างต่อเนื่องแม้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19”
จากเสียงสะท้อนของทั้ง 4 องค์กรรัฐวิสาหกิจ ถึงการปรับกระบวนการทำงานด้าน CSR ในวันที่ “โรค” เปลี่ยน “โลก” โดยใช้บทเรียนจาก “วิกฤติ” เพื่อเปลี่ยนเป็น “โอกาส” ในการที่จะพัฒนาการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลให้กับเศรษฐกิจ สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม