พาณิชย์ปั้นแบรนด์ท้องถิ่นป้อนตลาดสากล

ศุกร์ ๑๘ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๕:๕๔
การสร้างแบรนด์ (Branding) เป็นการสร้างภาพจำหรือเรียกได้ว่าเป็นการจำกัดความภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าไปสู่สายตาผู้บริโภค หลายแบรนด์มีสินค้าที่มีจุดขายและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แต่การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายยังไม่ตอบโจทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มต่างประเทศด้วยแล้ว การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งจำเป็นมาก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กิจกรรมบ่มเพาะ แบรนด์ไทย IDEA LAB 3 ภายใต้แนวคิด From Local Wisdom to Global Market จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 3 มี วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการสามารถนำกลยุทธ์ด้านแบรนด์มาสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากเพื่อผลักดันให้เป็นหนึ่งในปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการส่งออก (Local to Global) โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริม แบรนด์สินค้าและบริการไทยสู่ตลาดโลก หรือ MOC 4i : Thai Brand Heroes Program ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและสร้างเครือข่ายและการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์แบบเข้มข้นแก่ผู้ประกอบไทย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในยุคปัจจุบันเพราะผู้บริโภคหลายประเทศทั่วโลกยินดีที่จะมีประสบการณ์ร่วมกับ แบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นหลายแบรนด์จึงเร่งเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ทางด้านนี้ เช่นเดียวกับ 3 แบรนด์ไทยตัวแทนจากผู้เข้ารอบสุดท้ายของการพัฒนาศักยภาพเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดสากลใน “กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 3 IDEA LAB 3:Thai Brand Incubation Program” ซึ่งได้แชร์ประสบการณ์ของจุดเปลี่ยนของความคิดเพื่อสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น

“SANSARD”

วิศรุต ทวีวรสุวรรณ และ มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สานสาด ซึ่งเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์กลุ่ม พรีเมียมที่ทำจากเตยปาหนันจังหวัดตรัง เหมาะสำหรับลูกค้าที่มองหาความแปลกใหม่ ร่วมสมัย กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการแบรนด์ต้องการการเสริมศักยภาพ กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ และด้วยความที่แบรนด์มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการช่วยเหลือชุมชนร่วมด้วย เมื่อต้องการจะก้าวไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นต้องมีความชัดเจนในการกำหนดผลประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยหลังจากได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยครั้งนี้ ทำให้มองภาพการวางกลยุทธ์แบรนด์เพื่อทำตลาดที่ชัดเจนขึ้น สามารวางโครงสร้างของแบรนด์โดยจัดสัดส่วนของการสร้างแบรนด์สินค้าและส่วนที่เป็นโครงการช่วยเหลือออกจากกัน

“เราต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นรู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องการขยายโอกาสทางการค้าและโปรเจกท์พิเศษอื่นๆโดยวางแผนที่จะจำหน่ายไปยังลูกค้าต่างประเทศผ่านช่องทางเว็บไซต์และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักในต่างประเทศของ SARNSARD คือยุโรป เราได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวคิดของการออกแบบในเชิงลึก ด้วยจุดเด่นของสินค้ามีความผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยลายสานที่มีสีสัน ลูกค้าสามารถนำไปใช้งานและประยุกต์ใช้กับการแต่งตัวที่หลากหลายได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือทำให้เห็นมุมมองจากคนภายนอกที่มองเข้ามาในแบรนด์แล้วตีความแนวคิดออกมา ทำให้เรารู้ว่ายังมีมุมมองหรือมิติอื่นๆ ที่สามารถดึงมาเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์และสินค้าต่อได้ ซึ่งในช่วงตอบคำถามในกิจกรรมเวิร์คช้อป (Workshop)เป็นการสะท้อนตัวเองว่าเรารู้จักแบรนด์ตัวเองดีพอขนาดไหน และส่วนใดที่ยังขาดการเติมเต็ม สำหรับสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ที่ผ่านมาก็มีการปรับตัวโดยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลง สามารถตอบโจทย์ความต้องการตามสถานการณ์และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

“JOJO”

พิชชา สุตันตั้งใจ เจ้าของแบรนด์โจโจ้ วัย 14 ปีจากจังหวัดเลย ซึ่งเป็นกลุ่มนวัตกรรมสินค้าเกษตรและอาหารกล่าวว่าแบรนด์ โจโจ้ จุดประกายจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาพักโฮมสเตย์ของที่บ้านชื่นชอบในอาหารเช้าที่จัดให้ และต้องการซื้ออีกเมื่อกลับไปประเทศของตนแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดอาหารสุขภาพ ยังขาดประสบการณ์ ยังไม่มีบทเรียนที่จะนำมาใช้วางแผนกลยุทธ์การตลาดให้ครอบคลุม จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมIDEA LAB 3 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยทำให้เราได้พบกับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำแนวคิดต่างๆ หลังจากร่วมกิจกรรมพบว่าแบรนด์ยังต้องเสริมรูปแบบของผลิตภัณฑ์แนวสุขภาพที่มีอยู่ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ขนมปัง หรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปังที่เน้นสุขภาพดี แต่ยังอร่อยได้เหมือนเดิม

“ในยุคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพถือว่าได้เปรียบ แต่ต้องมีการสื่อสารให้ตรงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยต้องพัฒนาตัวเองปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า แบรนด์ JOJO เน้นการใช้วัตถุดิบจากผลไม้ไทยที่อร่อยและปลอดภัยและต้องการช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้จากการทำเกษตรแบบอินทรีย์ซึ่งดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันตลาดโลกมองเรื่องเศรษฐกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise กันมากขึ้น ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายเราคือกลุ่มรักสุขภาพทั้งแบบครอบครัวและวัยทำงาน เรามองไปที่ตลาดยุโรป อเมริกา และเอเชีย เพราะประเทศในทวีปเหล่านี้ รู้จักประเทศไทยผ่านการท่องเที่ยว ความเป็นเมืองร้อนที่มีผลไม้และอาหารอร่อยเป็นปัจจัยหนึ่งให้เราถูกเลือกแม้ว่าตอนนี้เรายังขายในประเทศ 100% แต่มีการติดต่อจากบริษัทต่างประเทศ เช่น อเมริกากลาง สิงคโปร์เข้ามา รวมถึงนักท่องเที่ยวจากอเมริกาซึ่งชื่นชอบผลิตภัณฑ์นี้มาก

สิ่งที่ดีมากจากการร่วมกิจกรรมนี้คือ การได้ฟังรุ่นพี่ที่ผ่านการบ่มเพาะแบรนด์มาแล้วในช่วง success case ทำให้ได้รู้ว่าการนำหลักการและคำแนะนำไปปฏิบัติให้กลายเป็นจริงทำอย่างไร ฟังแล้วมีแรงบัลดาลใจจะทำต่อจนสำเร็จนอกจากนี้ยังคุยกับโค้ชผู้เชี่ยวชาญที่มีหลักการและประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เปิดหูเปิดตา รวมถึงได้ฝึกทักษะการแสดงออกและนำเสนองาน โดยจะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการวางแผน และปรับตัวตลอดเวลาให้อยู่ได้กับสังคมและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

“ING-ON”

พิชญา ศรายุทธ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดีเอฟที (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์สบู่สมุนไพรอิงอร ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม เจ้าของสโลแกนสวยจริงอิงอรที่ส่งออกไปหลายประเทศ และเพิ่งคว้ารางวัล PM Export Award 2020 สาขา Best Thai Brand กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะครั้งนี้เพราะต้องการพัฒนาต่อยอดให้แบรนด์มีจุดขายที่แข็งแรงขึ้น มีแนวทางในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งต้องการเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่อายุประมาณ 20-25 ปี ที่เป็นกลุ่มคนเมือง โดยผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมารองรับ ปรับภาพลักษณ์บรรจุภัณฑ์ รูปแบบการนำเสนอ และตั้งชื่อแบรนด์ที่ทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยไม่กระทบกับแบรนด์หลักและฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่

“ปัจจุบันสัดส่วนการขายในประเทศ 95% และส่งออก 5% ซึ่งการทำตลาดต่างประเทศช่วยให้เรามองโลกที่แตกต่างกันได้กว้างขึ้น บางครั้งสินค้าที่ขายไม่ดีในไทย กลับได้รับความนิยมมากในบางประเทศ ดังนั้นการขยายไปต่างประเทศจะช่วยให้เรากระจายความเสี่ยงของธุรกิจ มีหลายประเทศที่เราเข้าไปทำตลาด อยู่ในช่วงที่นิยมเทรนด์สุขภาพและชอบใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เราจึงเชื่อว่าสบู่สมุนไพรอิงอรยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายเข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ หัวข้อเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ตนชอบมากที่สุดเพราะบรรจุภัณฑ์คือการสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า และเป็นประสบการณ์แรกที่ลูกค้าได้เห็นและสัมผัสกับสินค้า ทำให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการทดลองนำสินค้าที่ได้พัฒนาร่วมกับทีมที่ปรึกษา ออกวางจำหน่ายในไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version