บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ได้แต่งตั้ง บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ 9 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ประกอบด้วย (1) บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (2) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด (3) บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (4) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด (5) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) (6) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (7) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (8) บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ (9) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP เปิดเผยว่า ได้วางกลยุทธ์นำบริษัทฯ รุกขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยชูศักยภาพเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน มุ่งเน้นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์จากเยื่อและกระดาษ กระดาษบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์ ทั้งแบบอ่อนตัวและแบบคงรูป บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เยื่อกระดาษและกระดาษพิมพ์เขียน โดยมีการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งผลให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งในด้านรูปแบบ คุณสมบัติและวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยมีฐานการผลิตใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังมีฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมที่หลากหลายครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และสินค้าอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน SCGP เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค พร้อมต่อยอดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ซึ่งมีคุณสมบัติในการทำหน้าที่ปกป้องสินค้า ช่วยสร้างแบรนด์และเพิ่มความโดดเด่นแก่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ SCGP ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่
“เรามองว่าอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง โดยประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคนและมี 4 เมกะเทรนด์ที่จะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ ได้แก่ อัตราการบริโภคบรรจุภัณฑ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์จากพอลิเมอร์ที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรและไลฟ์สไตล์ การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น” นายวิชาญกล่าว
นายกุลเชฏฐ์ ธาราจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า จากการปรับโมเดลธุรกิจของ SCGP จากอุตสาหกรรมการผลิตสู่การเป็น Packaging Solutions Provider โดยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งแบบ B2B B2B2C และ B2C ตลอดจนการเร่งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการแบบครบวงจรเพิ่มขึ้น การพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย และการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการเติบโต โดยผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีรายได้จากการขายรวม 45,903 ล้านบาท เติบโต 11% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้มีการระบาดของโรค COVID-19 ปัจจัยเกื้อหนุนมาจากบรรจุภัณฑ์สำหรับอีคอมเมิร์ซ ฟู้ดเดลิเวอรี่ อาหารส่งออก สินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและสุขอนามัย
โดยในปี 2563 บริษัทฯ ได้ทำการเจรจาและลงนามในสัญญาซื้อหุ้นกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกรายใหญ่ในเวียดนามที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ นอกจากนี้อยู่ระหว่างขยายกำลังผลิตอีก 4 โครงการ ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ ใช้งบลงทุนรวมกว่า 8,200 ล้านบาท ซึ่งทยอยแล้วเสร็จในปี 2563–2564 ช่วยเพิ่มความสามารถการผลิตบรรจุภัณฑ์และขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น และล่าสุดบริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) เพื่อระดมทุนนำมาใช้ขยายธุรกิจ ชำระเงินกู้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ขณะนี้แบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. และแบบ Filing ของ SCGP มีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน SCGP มีทุนจดทะเบียน 4,500 ล้านบาท โดยเป็นทุนที่ออกและชำระแล้ว 3,126 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,126 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 1,127.6 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ (ไม่รวมหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน อาจใช้สิทธิซื้อหุ้น IPO จากบริษัทฯ ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) นอกจากนี้อาจจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over Allotment) จำนวนไม่เกิน 169.1 ล้านหุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 29.3 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังเสนอขายครั้งนี้ (กรณีที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) ทั้งนี้ จำนวนหุ้นที่เสนอขายสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบริษัทฯ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย และผู้ซื้อหุ้นเบื้องต้นในต่างประเทศ (ถ้ามี) ล่าสุด SCGP ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 33.50 – 35.00 บาทต่อหุ้น จากนั้นจะสำรวจความต้องการจองซื้อหุ้น IPO ของนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) เพื่อกำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายซึ่งคาดว่าจะประกาศได้ประมาณวันที่ 8 ตุลาคม 2563 โดย กำหนดระยะเวลาจองซื้อของผู้จองซื้อแต่ละประเภท ดังนี้
ผู้ถือหุ้นสามัญของ SCGP ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรร, ผู้ถือหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น, ผู้มีอุปการคุณของ SCGP สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 28 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2563 (เฉพาะวันทำการ)
ผู้จองซื้อรายย่อย สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 1, 2 และ 5 ตุลาคม 2563
บุคคลตามดุลพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สามารถจองซื้อได้ในวันที่ 5-7 ตุลาคม 2563
โดยจะต้องจองซื้อที่ราคา 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาเสนอขายสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น (“ราคาจองซื้อ”) อย่างไรก็ตามหากราคาเสนอขายสุดท้ายต่ำกว่าราคาจองซื้อ จะมีการคืนเงินค่าส่วนต่างแก่ผู้จองซื้อทุกรายหลังสิ้นสุดการเสนอขาย
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วม กล่าวว่า SCGP เป็นหุ้น IPO ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีกลุ่มนักลงทุนหลักแบบเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) จำนวน 18 ราย ได้ลงนามในสัญญา Cornerstone Placing Agreement รวมทั้งสิ้น 676.53 ล้านหุ้นหรือประมาณ 60% ของจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขายครั้งนี้ (ไม่รวมการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน) แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักลงทุนสถาบัน และสะท้อนความเชื่อมั่นในศักยภาพของ SCGP ที่เป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย
ขณะที่ความคืบหน้าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าจะนำหุ้น SCGP เข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินแก่ SCGP